“คำร้องทุกข์ “ ต้องพิจารณาดังต่อไปนี้
(1) ผู้นั้นมีอำนาจร้องทุกข์หรือไม่ ?
– ผู้ร้องทุกข์ ต้องเป็นผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ ม. 2(4)
(2) ถ้าผู้นั้นมีอำนาจร้องทุกข์ ให้พิจารณาต่อไปว่า ผู้รับคำร้องทุกข์
มีอำนาจรับคำร้องทุกข์หรือไม่ ?
– ผู้มีอำนาจรับคำร้องทุกข์ คือ พนักงานสอบสวน ป.วิ.อ ม.123
ว.1 และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ป.วิ.อ ม.124 ว.1
(3) ถ้าผู้รับคำร้องทุกข์มีอำนาจรับคำร้องทุกข์แล้ว ให้พิจารณาต่อ
ไปว่า เป็นการร้องทุกข์โดยมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ
หรือไม่ ?
– ตาม ป.วิ.อ ม. 2(7)
(4) ถ้าเป็นการร้องทุกข์โดยมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษแล้ว
ให้พิจารณาต่อไปว่า ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความหรือ
ไม่ ?
– ถ้าความผิดนั้นเป็นคดีความผิดอันยอมความได้(คดีความผิด
ต่อส่วนตัว) ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องและ รู้ตัวผู้กระทำความผิด ตาม ป.อ. ม.96 จึงจะเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ ม. 2(7) มีผลให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน ตาม ป.วิ.อ ม. 121 ว.2 เมื่อการสอบสวนนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องคดี ตาม ป.วิ.อ ม.120
คำร้องทุกข์มีความสำคัญยิ่งในการดำเนินคดีในความผิดต่อส่วนตัว (ความผิดอันยอมความได้) ในเรื่องอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนและอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ กล่าวคือพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนในความผิดอันยอมความได้ต้องมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบก่อน ตามมาตรา 121 วรรคสอง ถ้าไม่มีคำร้องทุกข์หรือคำร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยมาตรา 2(7) พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจสอบสวนและทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 ศาลต้องยกฟ้อง โดยหลักการพิจารณานั้นตั้งต้นไล่ว่า เป็นผู้เสียหายหรือไม่ การร้องทุกข์ชอบหรือไม่ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนหรือไม่ พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องหรือไม่ และยังต้องพิจารณาถึงอายุความร้องทุกข์ ตาม ป.อาญา มาตรา 96 ด้วย กล่าวคือ ในความผิดอันยอมความได้ ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตังผู้กระทำผิด
ผู้เสียหายต้องมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ
การแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อกันคดีขาดอายุความ หรือแจ้งไว้เพื่อเป็นหลักฐาน ถือว่าผู้เสียหายไม่มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ไม่เป็นคำร้องทุกข์ ตามมาตรา2 (7) (ฎ.391/2527,758/2523,1725/2522,195/2522,2206/2522)
การร้องทุกข์ในความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯถ้าผู้เสียหายแจ้งว่าต้องการรับเช็คของกลางไปเพื่อดำเนินการฟ้องร้องจำเลยอีกทางหนึ่งก่อน โดยไม่ขอมอบคดีต่อพนักงานสอบสวน ถือว่าผู้เสียหายไมีมีเจตนาให้ผู้ออกเช็คต้องรับโทษ ไม่เป็นคำร้องทุกข์ (ฎ.4714/2533,1478/2530,314/2529)
แต่ถ้าผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ออกเช็ค และในขณะเดียวกันก็ขอรับเช็คคืนไปทวงถามเอากับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่ง โดยคำร้องทุกข์ไม่มีข้อความระบุว่ายังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวน ถือว่าผู้เสียหายมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษแล้ว จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย (ฎ.1209/2531(ประชุมใหญ่),3924/2532)
ในความผิดต่อส่วนตัว กรณีที่มีผู้กระทำผิดหลายคน และผู้เสียหายรู้ตัวผู้กระทำผิดทุกคน แต่ผู้เสียหายร้องทุกข์โดยระบุชื่อเพียงบางคนเท่านั้น ถือว่าผู้เสียหายไม่มีเจตนาจะให้ผู้ที่ไม่ได้ระบุชื่อต้องรับโทษด้วย จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์สำหรับผู้ไม่ระบุชื่อ(ฎ.3343/2536,1298/2510,122/2528)
แต่ถ้าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการร้องทุกข์โดยผู้เสียหาย เจ้าพนักงานก็มีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดได้ ดังนั้น แม้ผู้เสียหายจะระบุชื่อให้ดำเนินคดีแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เจ้าพนักงานก็มีสิทธิดำเนินคดีแก่ผู้อื่นได้ (ฎ.4080/2540)
เจตนาเพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษนี้ คงพิจารณาเฉพาะขณะผู้เสียหายร้องทุกข์ว่า ผู้เสียหายมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษหรือไม่ ถ้ามีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษแล้ว แม้ต่อมาในชั้นพิจารณาของศาล ผู้เสียหายกลับมาเบิกความต่อศาลว่าไม่มีเจตนาให้เอาโทษแก่จำเลย ดังนี้ไม่ทำให้คำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายเสียไป (ฎ.186/2503,3091-3092/2523)
เมื่อได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้จะมีการผ่อนผันให้จำเลยกระทำการใดๆในกำหนดเวลา ก็เป็นเพียงรอการดำเนินคดีไว้เท่านั้น ไม่ทำให้คำร้องทุกข์เสียไป (ฎ.3093/2523)
ถ้ามีการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์แทน ต้องระบุในหนังสือมอบอำนาจด้วยว่าให้มีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยด้วย (ฎ.228/2544) และในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคล หนังสือมอบอำนาจก็ต้องทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับของนิติบุคคลนั้นด้วย มิฉะนั้นไม่ถือว่านิติบุคคลนั้นได้ร้องทุกข์แล้ว (ฎ.1590/2530,3831/2532)
การร้องทุกข์ไม่จำเป็นต้องระบุให้ชัดแจ้งว่าเป็นการร้องทุกข์ การที่ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะผู้เสียหาย การให้การดังกล่าวก็เพื่อเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษ คำให้การของผู้เสียหายก็ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์โดยชอบได้ (ฎ.2100/2497,1641/2514,2167/2528)
หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดร้องทุกข์ แต่ไม่มีข้อความระบุว่าทำให้ห้างฯได้รับความเสียหาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องทุกข์แทนห้างฯด้วย (ฎ.4070/2540)
คำร้องทุกข์นั้นไม่มีแบบ คำร้องทุกข์จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ (ฎ.719-720/2483) แม้พนักงานสอบสวนจะยังไม่ลงบันทึกประจำวัน ก็เป็นคำร้องทุกข์แล้ว (ฎ.2371/2522)
การที่ผู้เสียหายมีหนังสือร้องเรียนไปยังเจ้าพนักงานตำรวจ ขอให้ดำเนินคดีกับจำเลยก็เป็นการร้องทุกข์แล้ว (ฎ.244/2507(ประชุมใหญ่)
นายเกรียงศักดิ์ นวลศรี น.บ น.บ.ท วิชาชีพว่าความ และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com