Home ทริบเทคนิค/บทความ การอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์

การอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์

34956

images (1)

 

 

 

การยื่นอุทธรณ์

 

ต้องทำเป็นหนังสือ   ยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

การอุทธรณ์จะยื่นอุทธรณ์โดยส่งทางไปรษณีย์ไม่ได้  (ฎีกาที่   4718-19/2534 )

ต้องยื่นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลอุทธรณ์  ( มาตรา 229  )

ต้องยื่นสำเนาอุทธรณ์ต่อศาลเพื่อส่งให้แก่จำเลยอุทธรณ์

ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  ซึ่งเสียขณะยื่นอุทธรณ์ตามมาตรา   18

 

ในการอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม ๒ กรณี ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน คือ
๑.ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ เป็นกรณีที่ต้องเสียในเวลายื่นอุทธรณ์ตามตาราง ๑ ท้ายป.วิ.พ.
๒.เงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาเป็นกรณีที่ต้องนำมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒๙

 

เฉพาะค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ หากผู้อุทธรณ์ไม่นำมาชำระให้ครบถ้วน ศาลชั้นต้นต้องกำหนดเวลาให้ผู้อุทธรณ์นำเงินค่าขึ้นศาลมาชำระต่อศาลให้ครบถ้วนเสียก่อน หากไม่ชำระภายในกำหนด ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ จะสั่งไม่รับอุทธรณ์ทันทีไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่มิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมโดยถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา ๑๘  

แต่สำหรับค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ผู้อุทธรณ์ต้องนำมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒๙ นี้ มิใช่เป็นเรื่องที่มิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมโดยถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา ๑๘ การที่ผู้อุทธรณ์ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมตามมาตรา 229 ดังกล่าวมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์มีผลทำให้เป็นอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที โดยไม่ต้องสั่งให้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมให้ถูกต้องครบถ้วนก่อน กรณีไม่ต้องตามป.วิ.พ.มาตรา ๑๘ (ฎีกาที่  3/2548 , ฎีกาที่ 8684/2547 ,ฎีกาที่  4348/2547  ,   ฎีกา๖๐๗๓/๒๕๕๖  )

อย่างไรก็ดี ถ้าศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้อุทธรณ์มิได้จงใจฝ่าฝืนกฎหมาย ก็อาจมีคำสั่งกำหนดเวลาให้ผู้อุทธรณ์ปฏิบัติให้ถูกต้องครบต้องครบถ้วนก่อนพิจารณาสั่งอุทธรณ์ก็ได้ อันเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๓๒ ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นโดยเฉพาะ และคำสั่งศาลดังกล่าวมิใช่คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา  234  ผู้อุทธรณ์จึงยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว   (ฎีกาที่๑๓๒/๒๕๔๙  ,  6062/2549    ,    665/2548   ,   1125/2545  )

 

ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ ดังนี้ จะหาประกันมาแทนการวางเงินไม่ได้ (ฎ.๑๙๗/๒๔๘๕) และจะขอทุเลาการบังคับในเงินค่าธรรมเนียมนี้ก็ไม่ได้เช่นกัน (ฎ.๑๙๗/๒๔๘๕)

 

 

นายเกรียงศักดิ์     นวลศรี      น.บ    น.บ.ท   วิชาชีพว่าความ    และผู้เขียนบทความในเว็บ  ตั๋วทนาย.com

Facebook Comments