Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ แก้ไข ป.แพ่งฯ เรื่องค้ำประกันจำนอง 2 : ให้สถาบันการเงินเป็นลูกหนี้ร่วมได้

แก้ไข ป.แพ่งฯ เรื่องค้ำประกันจำนอง 2 : ให้สถาบันการเงินเป็นลูกหนี้ร่วมได้

3033

Guarantor-finance

พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (แก้ไขค้ำประกันและจำนอง).pdf 846.14 KB
หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณัชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 เพื่อแก้ไขเกี่ยวกับสิทธิและความรับผิดของผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง กลุ่มธุรกิจธนาคารออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบจากการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวที่อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยปั่นป่วน เพราะส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเข้มงวดมากขึ้น และการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐจะประสบปัญหาในการกู้เงินลงทุน เพราะการค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ไม่มีความหมาย

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังเพื่อให้กระทรวงการคลังเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายออกไปก่อนจากเดิมที่จะใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เนื่องจากกฎหมายนี้มีผลกระทบกับหลายฝ่าย จึงต้องมีการหารือกันอย่างรอบคอบก่อน
หลังมีกระแสทักท้วงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความคิดเห็นและจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้นมาใหม่อีกฉบับหนึ่ง เพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพิ่มพิจารณาแล้วเสร็จไปหมาดๆ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติรับหลักการวาระที่ 1 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในประเด็นสิทธิและความรับผิดของผู้ค้ำประกันอีกครั้ง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง หลังจากการแก้ไขครั้งแรกมีผลบังคับใช้ได้เพียง 1 วัน
ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคล เป็นลูกหนี้ร่วมได้
ในการแก้ไขก่อนหน้านี้ มาตรา 681/1 กำหนดให้ข้อตกลงใดที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ ในฐานะลูกหนี้ร่วม ให้ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ส่งผลให้มีเสียงคัดค้านว่ากฎหมายฉบับนี้มองการค้ำประกันว่ามีแค่เพียงการค้ำประกันโดยบุคคลธรรมดาเท่านั้น จนลืมไปว่าธนาคารพาณิชย์เองก็เป็นผู้ค้ำประกันรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งหากบัญญัติกฎหมายเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่มีธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ค้ำประกันได้
ดังนั้นในร่างกฎหมายล่าสุดจึงเพิ่มวรรคสอง ในมาตรา 681/1 “ให้นิติบุคคลในฐานะผู้ค้ำประกันสามารถรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมได้” ขณะที่ผู้ค้ำประกันที่เป็นบุคคลธรรมดายังคงมีความรับผิดตามมาตรา 681/1 เหมือนเดิม
ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลตกลงล่วงหน้าให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลาชำระหนี้ได้ ความรับผิดของผู้ค้ำประกันไม่หมดไป
หลักการทั่วไปในเรื่องการค้ำประกัน ตามมาตรา 700 คือ การค้ำประกันต้องกำหนดเวลาที่แน่นอน และหากเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ค้ำประกันก่อน ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดจากความรับผิด แต่ถ้าผู้ค้ำประกันยินยอมในการผ่อนเวลาด้วย ความรับผิดของผู้ค้ำประกันก็ไม่หมดไป
ในการแก้ไขก่อนหน้านี้ เพิ่มมาตรา 700 วรรคสอง ขึ้นมาว่า หากผู้ค้ำประกันเซ็นสัญญาตกลงไว้ล่วงหน้าว่า หากในอนาคตเจ้าหนี้จะยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันยินยอมด้วย ข้อตกลงเช่นนี้ใช้บังคับไมไ่ด้
เนื่องจากมีความกังวลว่า หลักการในมาตรา 700 วรรคสอง อาจกระทบต่อการดำเนินโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่มีสถาบันการเงินเป็นผู้ค้ำประกัน และการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ร่างกฎหมายฉบับครั้งล่าสุดจึงได้เพิ่มเป็นมาตรา 700 วรรคสาม ว่า “มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นสถาบันการเงิน”  เพื่อให้สถาบันการเงินทำข้อตกลงไว้ล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้ ในส่วนผู้ค้ำประกันทั่วไปยังคงเหมือนเดิม
Facebook Comments