Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ วิธีจัดการกับลูกหนีหนี้ ที่โอนทรัพย์สินให้บุตร

วิธีจัดการกับลูกหนีหนี้ ที่โอนทรัพย์สินให้บุตร

15718

เมื่อลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตนให้กับบุตร เจ้าหนี้มีอำนาจยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการโอน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ซึ่งเรียกว่าการเพิกถอนการฉ้อฉลนั้นจะสามารถทำได้หรือไม่

ศึกษาวิเคราะห์จากฎีกา 2573/2556
ป.พ.พ. มาตรา 237 เพิกถอนการฉ้อฉล
มาตรา 702 วรรคสอง จำนอง
ข้อเท็จจริง
1. โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 85546 ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบางเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2
1.1 ลักษณะคำฟ้องของโจทก์เช่นนี้เป็นการยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237
1.2 คำฟ้องของโจทก์เช่นนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เมื่อยื่นฟ้องต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตารางท้าย ป.วิ.พ.
1.3 คำฟ้องเช่นนี้สามารถนำไปยื่นฟ้องยังศาลซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4(1) หรือยื่นต่อศาลซึ่งเป็นที่ตั้งอสังหาริมทรัพย์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ทวิ เพราะถือว่าคดีประเภทนี้เป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ทวิก็ได้ แล้วแต่โจทก์จะเลือกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 5
1.4 การยื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 โจทก์จะต้องยื่นฟ้องทั้งลูกหนี้ผู้โอนทรัพย์และผู้รับโอน เพราะหากโจทก์ยื่นฟ้องมาเพียงบางคนแล้วศาลก็จะยกฟ้องซึ่งเป็นผลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145
1.5 มองในแง่พระธรรมนูญศาลยุติธรรม คดีฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 นี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ศาลแขวงจะไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา
1.6 ทางปฏิบัติ เมื่อโจทก์นำคำฟ้องมายื่นศาลจะสั่งคำฟ้องทำนองว่า “รับคำฟ้อง หมายส่งสำเนาให้จำเลย ให้โจทก์นำส่งภายใน 5 วัน ส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วันนับแต่ส่งไม่ได้ มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง”
2. เมื่อจำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำฟ้องและหมายของศาลแล้ว จำเลยจะต้องยื่นคำให้การภายใน 15 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 ปรากฏว่าคดีนี้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การขอให้ยกฟ้อง
3. ศาลชั้นต้นได้สืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วได้พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
3.1 เมื่อคดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์สามารถอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ไม่ว่าที่ดินจะมีราคาเท่าใดก็ตาม
3.2 การที่ศาลพิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ เป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 และส่งผลต่อเนื่องไปยัง ป.วิ.พ. มาตรา 229
4. โจทก์ยื่นอุทธรณ์
4.1 โจทก์จะต้องยื่นอุทธรณ์ภายในเวลา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 คือ หนึ่งเดือน และวิธีเขียนอุทธรณ์โจทก์จะต้องโต้แย้งเหตุผลของศาลชั้นต้นเท่านั้น
4.2 ในการยื่นอุทธรณ์โจทก์จะต้องเตรียมเงิน 2 รายการ คือ ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท และค่านำหมาย แต่โจทก์ไม่ต้องนำเงิน “ค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนจำเลย” มาวางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้เป็นพับ
4.3 ทางปฏิบัติเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ตรวจอุทธรณ์ว่าจะรับหรือไม่ หากศาลชั้นต้นจะรับอุทธรณ์จะสั่งทำนองว่า “รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้จำเลยแก้ภายใน 15 วัน ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายหนึ่งภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด หากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วันนับแต่ส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าทิ้งฟ้องอุทธรณ์”
5. ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามคำฟ้องของโจทก์……. ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองศาล
6. จำเลยทั้งสองยื่นฎีกา
6.1 จำเลยจะต้องยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ประกอบมาตรา 247 คือ หนึ่งเดือน การฎีกาจำเลยทั้งสองจะต้องโต้แย้งเหตุผลของศาลอุทธรณ์เท่านั้น
6.2 เมื่อศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเช่นนี้ การที่จำเลยทั้งสองจะยื่นฎีกาจะต้องเตรียมเงิน 3 จำนวน ประกอบไปด้วยค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 200 บาท ค่านำหมาย และจำนวนที่ 3 คือค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทน จะต้องนำมาวชางศาลพร้อมฎีกาทันที หากไม่นำมาวางถือว่าเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งไม่รับฎีกาได้เลยโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยชำระก่อน
6.3 ในทางปฏิบัติศาลจะสั่งรับฎีกาทำนองเดียวกับการสั่งรับอุทธรณ์
7. ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า นิติกรรมระหว่างจำเลยทั้งสองนั้นเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบอันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1 โอนทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 เข้าชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ให้แก่ธนาคารกรุงไทยจำกัดเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกา ฉะนั้นการโอนทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยอยู่ในความเห็นชอบของธนาคารดังกล่าวซึ่งเป็นสถาบันการเงินจึงมิใช่เป็นการโอนทรัพย์พิพาทแก่กันโดยไม่สุจริตสมยอมกัน อีกทั้งธนาคารดังกล่าวยังเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้เอาจากทรัพย์พิพาทก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 โอนทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ซึ่งศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
หมายเหตุ
1. คำพิพากษาฎีกาที่ 2573/2556 นี้ ตัดสินทำนองเดียวกับฎีกาที่ 2283/2539
คำพิพากษาฎีกาที่ 2283/2539
ป.พ.พ. มาตรา 237, 702 วรรคสอง
ธนาคารท.เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินและบ้านพิพาทจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา702วรรคสองแม้โจทก์จะบังคับคดียึดที่ดินและบ้านพิพาทขายทอดตลาดธนาคารท.ก็ยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์ส่วนโจทก์จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก็ต่อเมื่อมีเงินเหลือจากการชำระหนี้ของธนาคารท.ครบถ้วนแล้วดังนั้นการที่จำเลยที่1ขายที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลยที่2แล้วนำเงินชำระหนี้ธนาคารท.ซึ่งเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิก่อนจึงมิได้เป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสอง
2. หากไม่มีเจ้าหนี้จำนองเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว การที่ลูกหนี้โอนทรัพย์ให้กับบุตรของตัวเอง เจ้าหนี้สามารถเพิกถอนได้ ให้พิจารณาศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1785/2551
ป.พ.พ. มาตรา 237
จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์ จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา ดังนั้น จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทราบหรือไม่ว่าการทำนิติกรรมพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า ได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ทำนองว่าเป็นนิติกรรมที่มีค่าตอบแทนนั้น ก็เป็นการนำสืบที่ขัดกับเอกสารซึ่งระบุชัดเจนว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่อาจรับฟังได้
ขณะที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก เมื่อจำเลยที่ 1 มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องแต่เพียงอย่างเดียวและเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาสองแสนบาทเศษ และยังไม่ชำระให้โจทก์แต่กลับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตร จึงทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีทางบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้เป็นทางที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินเพียงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเท่านั้น ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก และโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จึงเป็นการทำนิติกรรมการโอนทั้ง ๆ รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ
3. การเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ถึงมาตรา 240 มีหลักเกณฑ์ประกอบไปด้วย
3.1 ลูกหนี้ทำนิติกรรมอันมีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน
3.2 ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
3.3 ลูกหนี้รู้อยู่แล้วว่าการทำนิติกรรมนั้นทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
3.4 ผู้ได้ลาภงอกได้รู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เว้นแต่เป็นการให้โดยเสน่หาลูกหนี้รู้ข้อความจริงนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียวก็เพิกถอนได้

บทความนี้มาจากเพจ  ทบทวนหลักกฎหมายจากอาจารย์ประยุทธ https://www.facebook.com/prayutlaw?fref=nf

Facebook Comments