Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ความรู้เกี่ยวกับ คดีมโนสาเร่และคดีไม่มีข้อยุ่งยาก 

ความรู้เกี่ยวกับ คดีมโนสาเร่และคดีไม่มีข้อยุ่งยาก 

28288

  

คดีมโนสาเร่และคดีไม่มีข้อยุ่งยาก


การฟ้องคดีมโนสาเร่และคดีไม่มีข้อยุ่งยากด้วยตนเอง
ความหมายของคดีมโนสาเร่
คดีมโนสาเร่ ได้แก่
1. คดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท
2. คดีฟ้องขับไล่บุคคลออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 30,000 บาท

วิธีการฟ้องและขั้นตอนการดำเนินคดี

การฟ้องคดีมโนสาเร่ทุกเรื่องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาทส่วนค่าธรรมเนียมอื่นๆยังคงต้องเสียเหมือนคดีแพ่งทั่วไป เช่น ค่าคำร้อง คำขอ ค่าส่งประเด็น เป็นต้น วิธีการฟ้องคดีมโนสาเร่ โจทก์อาจยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือ หรือมาแถลงข้อหาต่อศาลด้วยวาจา (ฟ้องด้วยวาจา) ก็ได้ หลังจากศาลรับฟ้องศาลจะกำหนดวันนัดพิจารณาโดยเร็ว โดยในหมายเรียกต้องระบุประเด็นในคดี เช่น โจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องกู้ยืมให้จำเลยชำระเงินกู้คืนโจทก์ 30,000 บาท เป็นต้น หมายเรียกจะมีข้อความให้จำเลยมาศาลเพื่อทำการไกล่เกลี่ย ให้การและสืบพยานในวันเดียวกัน และให้โจทก์มาศาลในวันนัดด้วย หากจำเลยไม่ยื่นคำให้การ ศาลมีอำนาจใช้ดุลยพินิจให้ดำเนินคดีต่อไป โดยถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ กรณีโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาโดยมิได้ขอเลื่อนคดีหรือเหตุขัดข้องที่ไม่มาศาล ศาลถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ดำเนินคดีต่อไป และจำหน่ายคดีจากสารบบความได้ คดีมโนสาเร่ ศาลจะเลื่อนคดีได้เฉพาะเมื่อมีเหตุจำเป็นและเลื่อนได้ครั้งละไม่เกิน 7 วัน ในการสืบพยาน ศาลจะเป็นผู้ซักถามพยานก่อน แล้วจึงให้ตัวความหรือทนายความซักถามเพิ่มเติม

การดำเนินคดีมโนสาเร่ด้วยตนเอง

1. เตรียมหลักฐานให้พร้อม ได้แก่
1.1 บัตรประจำตัวประชาชน/สำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์พร้อมสำเนา
1.2 หนังสือรับรองจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท (กรณีนิติบุคคลฟ้อง) พร้อมสำเนา
1.3 สำเนาทะเบียนบ้านของจำเลย พร้อมสำเนา
1.4 หนังสือรับรองจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท (ไม่เกิน 1 เดือน) กรณี นิติบุคคลถูกฟ้องเป็นจำเลย พร้อมสำเนา
1.5 หลักฐานในการดำเนินคดี
– คดีกู้ยืม/ค้ำประกัน ได้แก่ สัญญากู้/ค้ำประกัน
– คดีผิดสัญญา ได้แก่ สัญญาหรือบันทึกข้อตกลง
– คดีละเมิด ได้แก่ บันทึกประจำวันของเจ้าพนักงานตำรวจ
– คดีตั๋วเงิน ได้แก่ เช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
2. ติดต่อนิติกรประจำศาล เพื่อบันทึกคำฟ้องด้วยวาจา
3. ยื่นบันทึกคำฟ้องพร้อมเอกสารหลักฐาน ชำระเงินค่าธรรมเนียมต่อเจ้าหน้าที่งานรับฟ้องและกำหนดวันนัดกับเจ้าหน้าที่ศาล
4. ศาลมีหมายเรียกจำเลยมาศาลเพื่อไกล่เกลี่ยโดยกำหนดวันนัดพิจารณา ประมาณ 30 วัน (จำเลยมีภูมิลำเนาในเขตศาล หรือ 45 วัน (กรณีจำเลยมีภูมิลำเนานอกเขตศาล) โดยโจทก์ต้องมาศาลในวันนัดทุกครั้ง
5. กรณีโจทก์จำเลยมาศาลในวันนัด ศาลจะเรียกไกล่เกลี่ยก่อน หากไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จศาลจึงพิจารณาคดีต่อไป โดยโจทก์ต้องนำพยานเข้าสืบ
6.กรณีจำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาศาลจะถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและหากจำเลยมิได้ยื่นคำให้การไว้ก่อนด้วยแล้ว ศาลจะถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โดยศาลจะออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 15 วัน โดยโจทก์ไม่ต้องขอ
7. กรณีจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับภายในกำหนด (15วัน นับแต่วันได้รับคำบังคับหรือ 30 วันกรณีปิดหมาย) โจทก์จะขอ ให้ศาลออกหมายต้องบังคับคดีต่อไป

คดีไม่มีข้อยุ่งยาก

ความหมายของคดีไม่มีข้อยุ่งยาก คดีไม่มีข้อยุ่งยาก ได้แก่
1. คดีฟ้องขอให้ชำระเงินจำนวนแน่นอนตามตั๋วเงิน ซึ่งการรับรองหรือการชำระเงินตามตั๋วเงินถูกปฏิเสธ
2. คดีฟ้องขอให้ชำระเงินจำนวนแน่นอนตามหนังสือสัญญาซึ่งปรากฏว่า เป็นสัญญาอันแท้จริง มีความสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมาย เช่นการฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ยืมเงินที่มีหลักฐานที่แน่นอนและได้ทำหลักฐานกันถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

วิธีการฟ้องและขั้นตอนการดำเนินคดี

คดีไม่มีข้อยุ่งยากนั้น จะยื่นฟ้องและเสียค่าขึ้นศาลเหมือนคดีแพ่งทั่วไป หากศาลเห็นว่าคดีที่ฟ้องเป็นคดีที่ไม่มีข้อยุ่งยาก ศาลจะมีคำสั่งให้นำบทบัญญัติว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่มาใช้และออกหมายเรียกไปยังจำเลย แสดงจำนวนเงินที่เรียกร้องและเหตุแห่งการเรียกร้อง และให้จำเลยมาศาลและให้การในวันที่กำหนด ถ้าจำเลยมาศาล ศาลจะจดคำแถลงของจำเลยลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ถ้าศาลพิจารณาคำแถลงและคำให้การของจำเลยแล้ว เห็นว่าไม่มีเหตุต่อสู้คดี ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีโดยเร็ว ถ้าจำเลยมีข้อต่อสู่อันสมควร ศาลจะพิจารณาโดย ไม่ชักช้า และฟังพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายก่อนพิพากษา ถ้าจำเลยได้รับหมายเรียกแล้วไม่มาศาลตามกำหนด ศาลจะสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา แล้วศาลจะพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียว และพิพากษาคดีโดยเร็ว

Facebook Comments