Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ปปช.เสนอแก้ร่างรัฐธรรมนูญ9ประเด็น

ปปช.เสนอแก้ร่างรัฐธรรมนูญ9ประเด็น

2698

ปปช.เสนอแก้ร่างรัฐธรรมนูญ9ประเด็น

โพสต์เมื่อ :
หมวดหมู่ :
การเมือง

ป.ป.ช.เสนอแก้ร่างรธน.9ประเด็น ชี้ต้องให้งบประมาณแก่ปปช. 0.3% ของงบแผ่นดิน ขอกลับไปใช้ระบบสรรหาเหมือนปี 50

ปปช.เสนอแก้ร่างรัฐธรรมนูญ9ประเด็น

นายวิชา มหาคุณ โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ได้มีจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จำนวน 9 ข้อดังนี้

1.องค์กรใดๆ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ต้องมีฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และใช้กระบวนการตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น ใช้ระบบไต่สวน

2.คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีบทบาทและความรับผิดชอบในภารกิจทั้ง 3 ด้าน คือ การป้องกันการทุจริต การปราบปรามการทุจริต และการตรวจสอบทรัพย์สิน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตสามารถเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ แต่สำหรับภารกิจด้านการป้องกันการทุจริต อาจไม่จำเป็นต้องกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับผิดชอบทั้งหมด ควรคงบทบาทให้เป็นผู้กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ ทิศทาง ผู้สนับสนุน ติดตามประเมินผล   การเสนอมาตรการ ความเห็น ข้อเสนอแนะในการต่อต้านการทุจริตต่อคณะรัฐมนตรี ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน และองค์กรอื่นๆ ในการต่อต้านการทุจริต

3.คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยรับผิดชอบและเป็นศูนย์กลางการบูรณาการ เพื่อความคุ้มค่าของงบประมาณ ลดความซ้ำซ้อน

4.คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ควรได้รับการสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอโดยจัดสรรเป็นวงเงินในรูปแบบร้อยละของวงเงินงบประมาณประจำปี เช่น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.3%

5.ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลคุณธรรมและจริยธรรมของ   ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากนี้ ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 74วรรค 4-6 และมาตรา 253 ทำให้เกิดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการถอดถอนเพิ่มขึ้นคือคณะกรรมการการเลือกตั้งและสมัชชาคุณธรรม  ล้วนมีอำนาจในการส่งเรื่องให้รัฐสภาถอดถอนได้ จึงควรกำหนดขอบเขตของแต่ละองค์กรให้ชัดเจน

6.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 274 (7) (8) ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช. โดยกำหนดให้ป.ป.ช.ดำเนินการตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริตและการดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

7.แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 261โดยให้ใช้องค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาแบบเดิม ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 คือ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

8.ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 205 การตรวจสอบนโยบายการคลังและงบประมาณของรัฐ ควรกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยเฉพาะในชั้นของการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้

9. ควรตัดบทบัญญัติใน มาตรา 255 (3) ของร่างรัฐธรรมนูญออก ในเรื่องที่กำหนดให้มีกรรมการสามฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายอื่น ซึ่งมีจำนวนฝ่ายละเท่ากัน เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง


ที่มาpostoday

Facebook Comments