Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ความรู้เกี่ยวกับ บุตรนอกสมรส 

ความรู้เกี่ยวกับ บุตรนอกสมรส 

25496

  

บุตรนอกสมรส กรณีบิดาจดทะเบียนรับเป็นบุตร กับ รับรองว่าเป็นบุตร 

 

บุตรนอกสมรส คือบุตรที่เกิดแก่บิดากับมารดาที่อยู่กินกันเป็นสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย (แม้จัดพิธีมงคลสมรสใหญ่โตหรือพาออกสังคมแสดงตนว่าเป็นสามีภรรยากันก็ตาม) ซึ่งบุตรที่เกิดมานี้จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงผู้เดียว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1546 และความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตรนอกสมรสนั้นกฎหมายไม่นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบิดาและบุตร (ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1561 – 1584/1) มาใช้บังคับ เพราะไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา พูดง่ายๆ คือ บิดากับบุตรไม่มีสิทธิและหน้าที่อันใดต่อกันนั้นเอง เช่น

 

หน้าที่ของบุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดา (มาตรา 1563), หน้าที่ของบิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ฯ (มาตรา 1564), สิทธิในการร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงบุตรได้ (มาตรา 1565), บิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีอำนาจฟ้องบุคคลผู้ทำละเมิดทำให้บุตรนอกกฎหมายที่ตนรับรองแล้วถึงแก่ความตาย, ไม่สามารถฟ้องเรียกให้บุคคลผู้ทำละเมิดในค่าขาดไร้อุปาระได้ (เพราะเป็นหน้าที่ของบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น) เป็นต้น

 

การจดทะเบียนรับรองบุตร จะทำให้บุตรนอกสมรสกลายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา มี 3 วิธี (ป.พ.พ. มาตรา 1547) คือ

 

1) บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน บุตรจะมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่วันที่บิดามารดา จดทะเบียนสมสรกัน

 

2) บิดาไปสำนักงานเขต/อำเภอ ยื่นขอจดทะเบียนรับรองบุตร กรณีนี้มักจะเกิดจากการที่ชายไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับมารดาของบุตรได้ เช่น มีคู่สมรสแล้ว หรือ ชอบไม้ป่าเดียวกัน เป็นต้น การจดทะเบียนรับรองบุตรจะต้องให้บุตรและมารดาบุตรยินยอม (แต่ไม่จำเป็นต้องให้คู่สมรสของฝ่ายชายต้องยินยอมด้วย)

 

อนึ่ง บุตรที่อายุยังน้อยไม่สามารถเขียนหรือเซ็นยินยอมได้นั้นแม้มารดาจะยินยอมแทนก็ไม่สามารถกระทำได้ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1117/2540 “แม้มารดาจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรก็ไม่ใช่กรณีที่จะรองรับให้มารดาให้ความยินยอมแทนบุตรในกรณีการที่บิดาจะจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรได้” ดังนั้น การจดทะเบียนรับรองบุตรจึงมักจะทำเมื่อบุตรอ่านออกเขียนได้บ้างแล้ว

 

3) โดยวิธีการขอคำพิพากษาจากศาลว่าเป็นบุตร ซึ่งจะใช้ในกรณีที่บิดาไม่ยอมรับว่าเป็นบุตร หรือไม่รับรองบุตร หรือฝ่ายบิดาประสงค์จะจดฯ แต่มารดาของบุตรไม่อาจยินยอมให้ได้เพราะตายหรือสูญหายหรือไม่สามารถติดต่อมารดาบุตรได้ เพื่อจะให้บุตรมีสิทธิรับมรดก (อายุความ 1 ปี นับแต่เด็กบรรลุนิติภาวะ) จึงต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลให้พิพากษาว่าเป็นบุตร

 

เมื่อบิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว กฎหมายกำหนดไว้ ให้บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายฯ (ป.พ.พ. มาตรา 1627)

 

ส่วนกรณีของบุตรที่บิดาได้รับรองว่าเป็นบุตร (โดยพฤตินัย มิได้จดทะเบียนรับรองบุตร) เช่น การแจ้งเกิด การให้ใช้นามสกุล การส่งเสียอุปการะเลี้ยงดู หรือการแสดงเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปว่าเป็นบุตรของตน เป็นต้น ซึ่งบุตรนอกสมรสที่บิดารับรองแล้วนี้ จะเกิดสิทธิและหน้าที่กันตามกฎหมายระหว่างบุตรและบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังต่อไปนี้

 

1) เนื่องจากบุตรนอกสมรสที่บิดารับรองนั้น ต้องเป็นบุตรที่สืบสายโลหิตของบิดาอย่างแท้จริง และ ป.พ.พ. มาตรา 1627 ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดานั้นด้วย ซึ่งจะมีสิทธิรับมรดกของบิดาในฐานะทายาทโดยธรรมลำดับ 1 (ป.พ.พ.มาตรา 1629 (1)) เช่นเดียวกันกับบุตรนอกสมรสที่บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว

 

2) บิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้จะรับรองบุตรแล้ว แต่ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีสิทธิและหน้าที่ต่อบุตรนอกสมรสที่ยังไม่ได้จดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตร (ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1561–1584/1 ที่ได้กล่าวได้ข้างต้น) แต่ประการใด เพราะมิใช่บิดาชอบด้วยกฎหมายของบุตร เช่น

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 452/2553 การที่จำเลยให้ผู้เยาว์ใช้ชื่อสกุลของจำเลย และอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อย่างบิดากับบุตรไม่ใช่เหตุที่จะทำให้ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยได้ จำเลยจึงไม่มีอำนาจปกครองผู้เยาว์

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 7228/2537 บุตรที่จะมีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูและการให้การศึกษาจากบิดามารดาตามป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคแรก จะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรกหรือเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายในภายหลังตามป.พ.พ. มาตรา 1547

 

คำพิพากษาฎีกา 2114/2524 ตามป.พ.พ. มาตรา 1558 เป็นกรณีให้สิทธิแก่บุตรชอบด้วยกฎหมายโดยคำพิพากษาภายหลังการตายของเจ้ามรดก รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของการรับมรดกโดยตรง แต่เงินสงเคราะห์ตกทอดมิใช่มรดก ม.1558 มิใช่บทใกล้เคียงที่จะนำมาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ สิทธิรับเงินสงเคราะห์ตกทอดของผู้ตายตามข้อบังคับของการรถไฟแห่งประเทศไทยตกได้แก่ทายาทเนื่องจากการตาย แต่ไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้ตายมิใช่มรดก โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมาย ยังมิได้มีฐานะเป็นทายาทในขณะบิดาตาย จึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าวตามข้อบังคับ แม้ภายหลังจะมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ก็ไม่มีผลย้อนหลัง

 

 3) บิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีอำนาจฟ้องบุคคลผู้ทำละเมิดทำให้บุตรนอกสมรสที่ตนรับรองแล้วถึงแก่ความตาย (ต้องให้มารดาฟ้องเท่านั้น)  

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 1285/2508 โจทก์ทำการสมรสโดยมิได้จดทะเบียน การสมรสนั้นจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย บุตรที่เกิดมาจึงเป็นบุตรนอกสมรสของโจทก์ เมื่อโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตรตามป.พ.พ.มาตรา 1526 แล้ว โจทก์จึงมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตร อำนาจปกครองจึงตกอยู่แก่มารดาตามมาตรา 1538(5) และมารดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องผู้ที่ทำให้บุตรตาย  

 

บุตรนอกสมรสที่บิดายังมิได้จดทะเบียนรับรองบุตร แต่มีพฤติการณ์เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าเป็นบุตรนั้น มาตรา 1627 บัญญัติให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเสมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิเพียงรับมรดกบิดาได้ตามมาตรา 1629(1) เท่านั้น ส่วนบิดาไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีสิทธิและหน้าที่ต่อบุตรนอกสมรสที่ยังมิได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรแต่ประการใด

 

4) บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ไม่สามารถฟ้องบุคคลผู้ทำละเมิดที่ทำให้บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายตาย เช่น ค่าขาดไร้อุปาระ เป็นต้นได้ ส่วนค่าปลงศพและค่าสินไหมทดแทนอื่นๆ นั้นสามารถเรียกร้องได้   

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 1202/2549 สิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคแรก เป็นสิทธิของผู้ที่เป็นทายาทจะเรียกร้องเอาแก่ผู้ที่กระทำละเมิดทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายภายใต้บังคับมาตรา 1649 และเมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกซึ่งเป็นบิดารับรองแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1627 มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปลงศพของเจ้ามรดก และเมื่อโจทก์ทั้งสี่ร่วมกันฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในการปลงศพดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องระบุว่าโจทก์คนใดเป็นผู้ที่ออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงจะมีอำนาจฟ้องได้ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในการปลงศพได้

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 1409/2548 ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม กำหนดให้ผู้กระทำละเมิดในกรณีทำให้เขาถึงตายรับผิดต่อบุคคลที่ต้องขาดไร้อุปการะเฉพาะที่ผู้ตายมีหน้าที่อุปการะตามกฎหมายเท่านั้นแต่มาตรา 1563 และมาตรา 1564 ที่บัญญัติให้บุตรและบิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูกันนั้น หมายถึง บุตรและบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติกำหนดสิทธิและหน้าที่ให้บิดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมาย ดังนั้น แม้บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วจะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้ แต่ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบิดา จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทำละเมิด

 

5) บุตรนอกสมรสมีสิทธิรับมรดกแทนที่บุตรของเจ้ามรดกได้ ในฐานะที่เป็นผู้สืบสันดานโดยตรง

 

ดังนี้ บุตรนอกสมรสที่บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร กับ บุตรนอกสมรสที่บิดารับรอง จึงมีความเหมือนที่แตกต่างกัน ซึ่งบุตรนอกสมรสที่บิดาจดทะเบียนรับรองแล้วยอมมีสิทธิและหน้าที่เหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา (แม้บิดา มารดา ต่างฝ่ายมีคู่สมรสต่างหากก็ตาม) ส่วนบุตรนอกสมรสที่บิดารับรอง(โดยพฤตินัย) แล้วก็คงมีสิทธิเพียงได้รับมรดกในฐานผู้สืบสันดานเท่านั้น ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วดังกล่าวข้างต้น

 

บทความนี้หวังว่าจะมีประโยชน์แก่ชายหญิงและบุตรทั้งหลายที่เกิดในสังคมปัจจุบันไม่มากก็น้อย

 

© สำนักกฎหมายเชษฐคุณธุรกิจไทย พ.ศ.๒๕๕๖

Facebook Comments