Home ทริบเทคนิค/บทความ รู้ได้อย่างไงว่าเป็นเอกสารปลอม ?

รู้ได้อย่างไงว่าเป็นเอกสารปลอม ?

13396

images (1)

ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร สิ่งที่เราต้องพิจารณาในอันดับแรกคือ

1. สิ่งที่มีการทำปลอมขึ้นนั้นเป็นเอกสารหรือไม่ โดยพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 ( 7)
2. การกระทำนั้นเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารหรือไม่โดยพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264
3. เอกสารที่ทำปลอมขึ้นนั้นเป็นเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการหรือเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นที่เอกสารราชการหรือไม่ โดยพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 และ 266
4. เอกสารซึ่งทำปลอมขึ้นนั้นมีการนำออกใช้หรืออ้างเอกสารดังกล่าวหรือไม่หากมีการการนำออกใช้หรืออ้างให้พิจารณาต่อไปว่าใครหรือผู้ใดเป็นผู้นำออกใช้ หากผู้ทำปลอมเป็นผู้นำออกใช้ต้องลงโทษตามมาตรา 268 วรรคสองแต่กระทงเดียว
5. หากผู้ที่ปลอมเอกสารนั้นเป็นเจ้าพนักงานและมีหน้าที่ทำ,กรอก,หรือดูแลเอกสาร เจ้าพนักงานผู้กระทำ ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 161 ด้วย หากการปลอมเอกสารของเจ้าพนักงานนั้นมีราษฎรเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด ราษฎรผู้นั้นไม่สามารถเป็นตัวการร่วมกับเจ้าพนักงานได้เพราะการเป็นเจ้าพนักงานเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว ราษฎรคงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 161 ประกอบ 86 เท่านั้น

กรณียกตัวอย่าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่วางหลักเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมที่เกี่ยวกับรถยนต์ 

ศึกษาวิเคราะห์จากคำพิพากษาฎีกาที่ 15446/2555
ป.อ. มาตรา 264, 265, 268 ปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม
จำเลยที่ 1 ได้นำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมปิดทับแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่แท้จริงที่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถเพื่อใช้รถยนต์เดินทางไปที่เมืองพัทยา ป้องกันมิให้ผู้ที่พบเห็นทราบหมายเลขทะเบียนรถที่แท้จริงหากเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการเดินทาง จึงเป็นการใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมอย่างเป็นเอกสารราชการที่แท้จริงเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นรถยนต์ตามแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่มีการทำปลอมขึ้น และที่เกิดเหตุซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจพบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นสถานที่เปิดเผยในทางเดินรถสาธารณะ แม้จำเลยที่ 1 ยังมิได้ใช้รถยนต์เดินทางเคลื่อนที่จากจุดเกิดเหตุที่มีการลงมือกระทำความผิด ก็เป็นความผิดสำเร็จฐานใช้เอกสารราชการปลอม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265

หลักการพิจารณา
1. ความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก มีองค์ประกอบดังนี้
1.1 ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
1.2 เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริงหรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
1.3 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
1.4 กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

2. การปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265 ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักขึ้น

3. การใช้หรืออ้างเอกสารปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 268 มีหลักเกณฑ์คือ ผู้ใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตาม มาตรา 264, 265…….. ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

กรณีการปลอมเอกสารเกี่ยวกับรถยนต์ ศาลฎีกาได้วางหลักไว้ตามฎีกาดังต่อไปนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3078/2525
ป.อ. มาตรา 264, 265, 268
พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 6, 59
การที่จำเลยนำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลข น.0311พังงาซึ่งเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ทางราชการออกให้แก่รถยนต์ของ ส. นำไปใช้ติดกับรถยนต์จำเลยซึ่งเป็นรถยนต์อีกคันหนึ่ง แม้จะโดยมีเจตนาแสดงให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของจำเลยเป็นรถยนต์ที่มีหมายเลขทะเบียน น.0311 พังงา ก็ตามเมื่อแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่แท้จริงซึ่งทางราชการออกให้แก่รถยนต์คันอื่น จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารหรือใช้เอกสารราชการปลอม (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1141/2523)

คำพิพากษาฎีกาที่ 1141/2523
ป.วิ.อ. มาตรา 192
ป.อ. มาตรา 264, 265, 268
จำเลยเอาป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลข ส.ฎ.00890 ของรถยนต์ยี่ห้อเฟียตมาติดใช้กับรถยนต์ของกลาง เมื่อป้ายทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นเอกสารแท้จริงที่ราชการทำขึ้นไม่ใช่เอกสารปลอม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารและการที่จำเลยนำป้ายทะเบียนนั้นมาใช้กับรถยนต์ของกลางเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของกลางเป็นรถยนต์หมายเลขทะเบียน ส.ฎ.00890. จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม
จำเลยรู้ว่าหมายเลขประจำเครื่องยนต์ของกลาง 215173 เป็นเลขประจำเครื่องยนต์ปลอม แล้วจำเลยนำรถยนต์ของกลางไปตรวจเครื่องยนต์แสดงว่ามีเลขหมายนั้นต่อเจ้าหน้าที่และนำไปขายแก่ผู้อื่น จำเลยมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้เครื่องยนต์ที่ปลอมลงในรถยนต์ของห้าง ง. ซึ่งอยู่ในความดูแลของ จ. แต่ทางพิจารณาปรากฏว่าเลขจำเลยใช้เลขเครื่องยนต์ที่ปลอมลงในรถยนต์คันอื่นข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 1817/2526
ป.อ. มาตรา 268
จำเลยที่ 1 นำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่แท้จริงซึ่งทางราชการออกให้เพื่อใช้กับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้แจ้งเลิกใช้แล้วมาใช้กับรถยนต์ของกลาง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 3997/2548
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225
ป.อ. มาตรา 84, 90, 264 วรรคแรก
การที่จำเลยที่ 1 ตัดโครงคัสซีของรถยนต์ของกลางบริเวณตัวอักษรตัวเลขออกแล้วนำชิ้นส่วนของโครงคัสซีที่ระบุตัวอักษรตัวเลขอื่นมาเชื่อมติดใหม่ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขุดลบ แก้ไข เปลี่ยนแปลงตัวอักษรตัวเลขคัสซีแต่อย่างใดการกระทำของจำเลขที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตัวอักษรตัวเลขคัสซี
การที่จำเลยที่ 1 ใช้ให้ผู้อื่นทำลายตัวอักษรตัวเลขที่ปรากฏอยู่บนเครื่องยนต์ของรถยนต์ของกลางแล้วตอกตัวอักษรตัวเลขให้ตรงกับตัวอักษรตัวเลขของเครื่องยนต์ที่จำเลขที่ 1 ซื้อจากบุคคลอื่น แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการปลอมแปลงเอกสารดังกล่าวโดยไม่ได้บรรยายว่าโจทก์เป็นผู้ใช้ ศาลจึงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารดังกล่าวไม่ได้ จำเลยที่ 1 คงมีความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารตัวอักษรตัวเลขของเครื่องรถยนต์ของกลาง ตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 เท่านั้น
การที่จำเลขที่ 1 นำรถยนต์ของกลางซึ่งมีการปลอมตัวอักษรเลขเครื่องยนต์ไปแจ้งข้อความอันเป็นเท็จจริงต่อเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกฯ ก็เพื่อประโยชน์ของจำเลขที่ 1 ในการใช้หลักฐานปลอมดังกล่าวโดยมุ่งประสงค์ให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของกลางประกอบขึ้นจากโครงคัสซี เครื่องยนต์ อุปกรณ์ส่วนต่าง ๆ จากชิ้นส่วนรถยนต์เก่าจนเจ้าหน้าที่เหล่านั้นหลงเชื่อรับจดทะเบียนรถยนต์ของกลางสมดังเจตนาของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาฎีกาที่ 2457/2524
ป.อ. มาตรา 268
จำเลยนำแผ่นป้ายทะเบียนรถคันอื่นไปติดไว้ที่รถจักรยานยนต์คันที่จำเลยครอบครอง และใช้ขับขี่แทนแผ่นป้ายทะเบียนรถเดิม อันมีหมายเลขทะเบียนไม่ตรงกัน มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 317/2521
ป.อ. มาตรา 264, 265, 268
จำเลยเขียนหมายเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ของผู้อื่นลงไว้ที่แผ่นเหล็กท้ายรถจักรยานยนต์คันของกลางแม้จำเลยจะเขียนหมายเลขดังกล่าวด้วยตนเองโดยมีลักษณะขนาดตัวหนังสือและตัวเลขไม่เหมือนกับป้ายหมายเลขทะเบียนที่แท้จริง ซึ่งทางราชการกรมตำรวจจัดทำขึ้นก็ตามแต่เมื่อจำเลยกระทำด้วยเจตนาทำเทียมเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และโดยลักษณะที่อาจจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนแล้วการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและเมื่อจำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางที่ติดป้ายหมายเลขทะเบียนปลอมที่จำเลยทำขึ้นดังกล่าวขับขี่ไปจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2241/2523
ป.อ. มาตรา 265, 268
แผ่นป้ายทะเบียนหมายเลข ต.ด.01839 ของกลางเป็นหมายเลขทะเบียนที่ทางการออกให้กับรถยนต์คันหนึ่งของจำเลยที่ถูกชนพังใช้การไม่ได้ แม้แผ่นป้ายดังกล่าวจำเลยเป็นผู้กระทำขึ้นเพื่อใช้แทนแผ่นป้ายอันแท้จริงซึ่งทางการจะต้องเป็นผู้ทำและมอบให้เจ้าของรถยนต์ก็ตาม แต่โดยทางปฏิบัติหากทางการยังไม่มีแผ่นป้ายทะเบียนให้ ก็อนุโลมให้ถือว่าเป็นแผ่นป้ายทะเบียนโดยชอบ แต่จะนำป้ายทะเบียนของกลางไปใช้กับรถยนต์คันอื่นหาได้ไม่ การที่จำเลยนำแผ่นป้ายหมายเลขทะเบียนดังกล่าวไปติดเพื่อใช้กับรถยนต์คันของกลางโดยมีเจตนาแสดงให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่า รถยนต์คันของกลางซึ่งเป็นรถที่ผิดกฎหมายเป็นรถที่มีทะเบียนถูกต้อง จึงเห็นได้ว่าแผ่นป้ายทะเบียนหมายเลข ต.ด.01839 ที่จำเลยทำขึ้นนั้น หาได้นำไปใช้กับรถยนต์คันของตนที่ได้รับอนุญาตไม่ หากแต่นำไปใช้เป็นหมายเลขทะเบียนปลอมของรถยนต์คันของกลางโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนให้หลงเชื่อว่าแผ่นป้ายทะเบียนหมายเลขนั้นเป็นเอกสารราชการอันแท้จริงที่ทางการออกให้ใช้กับรถยนต์คันของกลาง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 2995/2537
ป.อ. มาตรา 265, 268
จำเลยได้นำแผ่นกระดาษซึ่งเขียนข้อความให้เหมือนกับแผ่นป้ายทะเบียนหมายเลข กรุงเทพมหานคร 9ง-9999 ที่ทางราชการได้ทำขึ้นแล้วนำไปใส่กรอบโลหะติดไว้กับรถจักรยานยนต์ของจำเลย ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการขอหมายเลขทะเบียนจากทางราชการ เมื่อแผ่นป้ายดังกล่าวมิได้ทำขึ้นด้วยแผ่นโลหะเช่นของทางราชการ ทั้งยังปรากฏข้อความว่า คุ้มครองป้ายทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมการช่างผู้ถือสิทธิบัตรเลขที่ 1091 อยู่ด้วย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นป้ายที่ใช้เป็นตัวอย่างในการโฆษณาการจัดทำป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์เพื่อจำหน่ายของห้างร้านผู้จัดทำจำหน่าย กรณีจึงมิใช่การทำเอกสารปลอมเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริง เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารปลอม แม้จำเลยจะนำเอกสารนั้นไปติดไว้กับรถจักรยานยนต์ จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 613/2540
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
ป.อ. มาตรา 91, 264, 268, 335 (11)
โจทก์ร่วมเป็นผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพโดยหวังผลประโยชน์ในบำเหน็จค่าฝากหรือจากการเอาเงินของผู้ฝากไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติเกี่ยวกับวิธีเฉพาะการฝากเงินไว้ตามมาตรา672ว่าผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกับที่ฝากแต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวนดังนั้นเงินที่ฝากไว้ย่อมเป็นเงินของโจทก์ร่วมโจทก์ร่วมจึงมีอำนาจฟ้องในความผิดเกี่ยวกับเงินดังกล่าว จำเลยเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของส. ในใบคำขอใช้บริการบัตรเอ.ที.เอ็ม.แล้วนำมายื่นต่อโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมออกบัตรเอ.ที.เอ็ม.ส่งมาให้ธนาคารโจทก์ร่วมสาขาท่าพระ แล้วจำเลยลักบัตรนั้นรวมทั้งซองบรรจุรหัสเพื่อใช้กับบัตรเอ.ที.เอ็ม.ในชื่อของส. จากนั้นจำเลยนำบัตรเอ.ที.เอ็ม.ดังกล่าวไปถอนเงินของโจทก์ร่วมที่เป็นนายจ้างของจำเลยจากเครื่องฝาก-ถอนอัตโนมัติครั้งละ10,000บาทรวม16ครั้งการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา335(11)17กระทงและความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา264และ268อีกกระทงหนึ่ง

คำพิพากษาฎีกาที่ 9009/2553
ป.วิ.พ. มาตรา 243 (3) (ก), 247
ป.วิ.อ. มาตรา 15
ป.อ. มาตรา 265, 268 วรรคแรก
ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้มอบใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ชั่วคราวให้แก่ ก. และมอบใบอนุญาตขับรถยนต์ให้แก่ จ. ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยเป็นผู้นำใบอนุญาตขับรถดังกล่าวที่ทำปลอมขึ้นไปใส่ไว้ในตะกร้าบนเคาน์เตอร์หน้าที่ทำการแผนกทะเบียนยานพาหนะเท่านั้น การที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้มอบใบอนุญาตขับรถดังกล่าวให้แก่ ก. และ จ. จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวน ศาลฎีกามีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (3) (ก) ประกอบมาตรา 247 และ ป.วิ.อ. มาตรา 15
การที่จำเลยเพียงแต่นำใบอนุญาตขับรถที่ทำปลอมขึ้นใส่ไว้ในตะกร้า เพื่อให้ ก. และ จ. มารับไป โดยจำเลยยังมิได้อ้างและใช้เอกสารดังกล่าวแก่ผู้ใด จึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

คำพิพากษาฎีกาที่ 1928/2529
ป.อ. มาตรา 90, 91, 264, 265, 268
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา268วรรคสองที่บัญญัติว่าถ้าผู้กระทำความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้นให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียวนั้นหมายความว่าความผิดฐานปลอมเอกสารแต่ละกระทงนั้นถ้าผู้ใช้เอกสารปลอมเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้นก็ให้ลงโทษฐานเป็นผู้ใช้เพียงกระทงเดียวเฉพาะแต่ละกระทงที่ปลอม. การที่จำเลยปลอมสำเนาป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา264,265กระทงหนึ่งและจำเลยปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถแสดงการจดทะเบียนใช้รถมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา264,265อีกกระทงหนึ่งนั้นแม้จำเลยจะได้ใช้เอกสารปลอมดังกล่าวในคราวเดียวกันแต่ก็เป็นการใช้เอกสารคนละประเภทกันจำเลยต้องมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้เอกสารดังกล่าว2กระทง.

กรณีตัวอย่าง

ความผิดฐานเจ้าพนักงานปลอมเอกสารตามมาตรา ๑๖๑ ปอ.กับความผิดฐานเจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จตามมาตรา ๑๖๒ ต่างกันอย่างไร
ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ความหมายที่เรียกว่า “ปลอม” หรือความหมายที่เรียกว่า “เท็จ”  นั้นคืออะไร
ปลอมเอกสาร เป็นการหลอกในตัวผู้ทำเอกสาร กล่าวคือ ตัวผู้ทำเอกสารนั้นไม่มีอำนาจทำเอกสารนั้น หรือไม่มีอำนาจให้ผู้อื่นทำเอกสารนั้น แล้วทำเอกสารขึ้นมาไม่ว่าข้อความในเอกสารนั้นจะเป็นความจริงหรือเป็นความเท็จก็ตาม โดยให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยผู้มีอำนาจทำเอกสารนั้น
เอกสารเท็จเป็นการหลอกในเนื้อหาของเอกสารโดยผู้ทำเอกสารดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจที่จะทำเอกสารนั้น
ดังนั้น มาตรา ๑๖๑ ความผิดเจ้าพนักงานปลอมเอกสาร จะต้องไม่มีหน้าที่ทำเอกสารฉบับนั้นโดยตรงเพียงแต่มีหน้าที่ทำเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร หรือดูแลรักษาเอกสารฉบับอื่นๆ
ส่วนมาตรา ๑๖๒ ความผิดเจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จ ต้องมีหน้าที่โดยตรงในการทำเอกสารฉบับนั้น แล้วไป “รับรอง” “ละเว้นไม่จดข้อความ” รวมถึงการกรอกข้อความที่เป็นเท็จด้วย
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ฏ. ๒๙๐๗/๒๕๒๖
จำเลยในฐานะเลขานุการสภาเทศบาล จำเลยไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ประธานสภาเทศบาลจึงแต่งตั้งให้ ส. รองปลัดเทศบาลทำหน้าที่เลขานุการเทศบาลแทนจำเลยจำเลยจึงได้ใช้ให้แก้ไขรายงานการประชุมที่ ส. ทำขึ้น โดยจำเลยไม่มีอำนาจแก้ไขได้โดยพลการเพื่อจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเชื่อว่าสภาเทศบาลมีมติตามที่จำเลยได้แก้ไข โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จำเลยจึงมีความผิดใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสารตาม ปอ.มาตรา ๒๖๕ประกอบมาตรา ๘๐ เมื่อจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลเอกสารดังกล่าวจำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา ๑๖๑ อีกบทหนึ่ง เมื่อจำเลยนำเอกสารปลอมนั้นไปใช้อ้างในการขออนุมัติต่อผู้ว่าฯ จำเลยจึงมีความผิดฐานผู้ใช้เอกสารปลอมตามมาตรา ๒๖๘ อีกกระทงหนึ่ง
ข้อสังเกต
๑. ในวันที่มีการประชุมครั้งนั้น จำเลยไม่อยู่ประธานสภาเทศบาลจึงมอบให้ ส. เป็นผู้ทำบันทึกการประชุมครั้งนั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ในการทำบันทึกการประชุมดังกล่าวเพราะเป็นหน้าที่ของ ส. ไปเสียแล้ว แต่ยังมีหน้าที่ดูแลเอกสารดังกล่าวอยู่
๒. แต่ถ้าจำเลยอยู่ในวันนั้น จำเลยย่อมมีหน้าที่ในการจดรายงานการประชุมดังกล่าว หากจำเลยจดรายงานไม่ตรงตามความเป็นจริง และลงลายมือชื่อตัวเองเป็นผู้ทำย่อมมีความผิดตามตรา ๑๖๒
ข้อควรพิจารณาเพิ่มเติม
๑. เอกสารปลอม อาจไม่ใช่เอกสารเท็จก็ได้
๒. เอกสารเท็จอาจไม่ใช่เอกสารปลอมก็ได้
๓. เอกสารปลอมอาจเป็นเอกสารเท็จด้วยก็ได้
ข้อสังเกต
๑. เมื่อผิดฐานปลอมเอกสารแล้วก็ไม่ต้องพิจารณาว่าเอกสารนั้นจะเท็จหรือไม่เพราะจะเท็จหรือจริงก็ไม่มีผลอะไรต่อเอกสารที่ปลอมนั้น
๒. ราษฎรทำเอกสารเท็จไม่ผิด เว้นแต่มาตรา ๒๖๙ เช่นแพทย์ออกใบรับรองแพทย์เป็นเท็จ หรือราษฎรแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเท็จลงในเอกสาร ผิดมาตรา ๒๖๗ หรือนำเอกสารเท็จไปสืบหรือแสดงในการพิจารณาคดี ผิดมาตรา ๑๘๐
๓. ความผิดเจ้าพนักงานปลอมเอกสารตามมาตรา ๑๖๑ ไม่มีเจตนาพิเศษเหมือนกับมาตรา ๒๖๔ ดังนั้น มาตรา ๑๖๑ ไม่จำต้องปลอมเอกสาร “เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง”
ตัวอย่างอีกฎกาหนึ่ง ฏ.๑๐๖/๒๔๙๗
นายแดงเช่าห้องแถวนายดำอยู่โดยไม่มีหนังสือสัญญาเช่า นายขาวซื้อห้องแถวนั้น ไปจากนายดำแล้วฟ้องขับไล่นายแดง นายดำสงสารนายแดงที่ไร้ที่อยู่ นายแดงและนายดำจึงทำสัญญาเช่าขึ้นมาฉบับหนึ่ง มีข้อความว่านายดำให้นายแดงเช่าห้อแถวนั้นโดยลงวันที่ทำสัญญาย้อนหลังไปในอดีตก่อนวันที่นายดำขายห้องแถวให้นายขาวโดยมีกำหนดระยะเวลาเช่าครอบคลุมมาจนกระทั่งถึงวันที่นายขาวฟ้องขับไล่ เพื่อให้นายแดงจะได้อยู่ในห้องแถวได้ต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง เช่นนี้ถือว่า สัญญาเช่าเป็น “เอกสารเท็จ” ไม่ใช่เอกสารปลอมเพราะเป็นหนังสือที่ทำขึ้นจริงๆ เพียงแต่ข้อความเป็นเท็จ
แต่หากนายดำไม่ยอมทำหนังสือสัญญาเช่าอันเป็นเท็จ นายแดงจึงไปขอให้นายเหลืองทำโดยนายเหลืองใช้ชื่อว่านายดำ เช่นนี้จะเป็น “เอกสารปลอม” เพราะเป็นการหลอก “ในตัวผู้ทำเอกสาร”

นายเกรียงศักดิ์    นวลศรี    น.บ   น.บ.ท    วิชาชีพว่าความ    และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com

 

Facebook Comments