ไม่ขีดฆ่าอากรแสตมป์เท่ากับไม่ปิดอากรแสตมป์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่5254/2555
……….บ.กู้ยืมเงินไปจาก พ. เป็นจำนวนเงิน 791,250 บาท โดยในการกู้ยืมเงินดังกล่าว บ.ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน และได้มอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนารายการเกี่ยวกับบ้านให้แก่ พ.ไว้เป็นหลักฐานด้วย เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ บ.ไม่ชำระหนี้เงินกู้คืน พ.จึงได้นำหนังสือสัญญากู้ฉบับดังกล่าวมาฟ้องบังคับให้ บ.ชำระหนี้ และได้ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์
……….บ.ให้การต่อสู้ว่า หนังสือสัญญากู้เป็นเอกสารปลอม
……….ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ บ.ชำระหนี้ให้แก่ พ.เป็นเงิน 820,515.41 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 791,250 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ พ.
……….บ.อุทธรณ์
……….ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง พ. เนื่องจากสัญญากู้ปิดอากรแสตมป์แต่ไม่ได้ขีดฆ่า
……….พ.ฎีกา และในระหว่างฎีกา พ.ยื่นคำร้องขออนุญาตศาลฎีกาขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน
……….ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จะฟังว่า บ.ทำสัญญากู้ยืมเงินจาก พ.หรือไม่ ต้องอาศัยหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเป็นพยานหลักฐาน ซึ่งหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ พ.อ้างมีลักษณะเป็นตราสาร ต้องปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่า เมื่อหนังสือสัญญากู้ยืมเงินปิดอากรแสตมป์แล้วแต่ไม่ได้ขีดฆ่า จึงเป็นสัญญากู้ยืมเงินที่ปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ มีผลเท่ากับว่า พ.ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ พ.จึงฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
……….ส่วนการที่ พ.ยื่นคำร้องขออนุญาตศาลฎีกาขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ศาลฎีกาเห็นว่า พ.ต้องกระทำก่อนหรือในขณะที่นำเอกสารนั้นมาใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งหรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินชี้ขาดคดี การที่ พ.เพิ่งมายื่นคำร้องขอดังกล่าวหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปแล้วย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไขได้(ฎีกาที่ 5254/2555)
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
………..ป.รัษฎากร พ.ศ.2481
………..มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้ และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114
……….ป.พ.พ. มาตรา 653 การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
……….ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้น