Home ทริบเทคนิค/บทความ การริบทรัพย์สินของกลางในคดียาเสพติด

การริบทรัพย์สินของกลางในคดียาเสพติด

11649

 

 

 

 

การริบทรัพย์สินของกลางในคดียาเสพติด ตามมาตรา 30 พรบ.มาตรการฯ

 

 

“ มาตรา 30  บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม

ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น เพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และเมื่อศาลสั่งรับคำร้องแล้วให้ศาลสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกัน เพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าคดีดังกล่าวจะปรากฏตัวบุคคลซึ่งอาจเชื่อได้ว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตาม

ค่าใช้จ่ายในการประกาศ ให้จ่ายจากเงินของกองทุน

ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดอ้างตัวเป็นเจ้าของก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือในกรณีที่ปรากฏเจ้าของ แต่เจ้าของไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดและจะมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่เริ่มประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันตามวรรคสอง และในกรณีนี้มิให้นำมาตรา 36 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ  ”

1.ลักษณะของทรัพย์สินที่อาจถูกริบได้

ก.เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คือการกระทำผิดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า เช่นการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ครอบครองเพื่อจำหน่าย สมคบ สนับสนุนช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิด และยาเสพติดนั้นเป็นตัวยาที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้มีจำนวน 21 ชนิด เช่น เฮโรอีน  ฝิ่น กัญชา แอมเฟตามีน(ยาบ้า) โคเคน อีเฟรดีน และแอลเอสดี เป็นต้น

ข.เป็นทรัพย์สินที่เอื้ออำนวยในการกระทำความผิดเท่านั้น คือ

-ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ได้แก่ เครื่องอัดไฮโดรลิค ซึ่งใช้ในการอัดเฮโรอีน หรือกัญชาเป็นก้อน เพื่อความสะดวกต่อการขนส่งไปจำหน่าย  กะทะ  กะละมัง ที่ใช้ในการเคี่ยวฝิ่นในการผลิตเฮโรอีน รถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งลำเลียงยาเสพติด ช้างไม้แกะสลัก ซึ่งใช้บรรจุซุกซ่อนเฮโรอีน เพื่อนำส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ   ตัวอย่างเช่น

คำพิพากษาฎีกาที่ 4104/2540    ขณะที่จำเลยถูกจับ จำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางพร้อมทั้งกัญชาและถุงพลาสติกเล็กไว้ในย่ามออกไปเพื่อจำหน่ายกัญชา ดังนั้น รถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบรถจักรยานยนต์ของกลางได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 4298/2544   โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้รถยนต์ขนส่งและซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษ อันเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดและมีคำขอให้ริบของกลางตาม พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 , 33 ซึ่งคำขอในลักษณะเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายกำหนดให้อัยการต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นให้สั่งริบทรัพย์สิน ต่างจาก พรบ.มาตรการฯ มาตรา 30 ซึ่งกำหนดให้อัยการต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นให้สั่งริบทรัพย์สิน ฉะนั้นเมื่อโจทก์มิได้ขอให้ศาลริบของกลางตาม พรบ.มาตรการฯ จึงไม่จำต้องยื่นคำร้องต่อศาล และศาลมีอำนาจสั่งริบของกลางได้ตามที่โจทก์ขอมาในคำขอท้ายฟ้อง

-ทรัพย์สินที่ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หมายถึง เป็นทรัพย์สินที่เป็นส่วนประกอบช่วยในการกระทำความผิดสำเร็จได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น แต่มิใช่ทรัพย์สินที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จ คือ แม้ไม่มีทรัพย์สินที่เป็นอุปกรณ์นี้ การกระทำความผิดก็อาจสำเร็จได้แต่อาจไม่สะดวก ซึ่งได้แก่รถยนต์ ที่ใช้เป็นพาหนะในการติดต่อเพื่อซื้อขายยาเสพติดหรือควบคุมการลำเลียง โทรศัพท์มือถือซึ่งใช้ในการติดต่อเจรจาซื้อขายยาเสพติด

-ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ได้แก่ ถุงพลาสติก สก๊อตเทป ที่เตรียมไว้ในการบรรจุหีบห่อยาเสพติด ไม้ซึ่งเตรียมไว้เพื่อต่อเป็นลังบรรจุซุกซ่อนยาเสพติด เป็นต้น

การดำเนินการต่อทรัพย์สินของกลางเหล่านี้ในชั้นจับกุมและสอบสวน เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยพนักงานอัยการจะอาศัยความตามมาตรา 30 พรบ.มาตรการฯพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดียาเสพติดนั้น เพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินของกลางในคดีให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จากนั้นศาลจะสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่น 2 วัน ติดต่อกัน เพื่อเป็นการแจ้งให้เจ้าของทรัพย์สินมาร้องขอทรัพย์สินคืน โดยต้องยื่นคำร้องเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง  ถ้าเจ้าของทรัพย์สินพิสูจน์ไม่ได้ หรือไม่มีผู้ใดร้องขอเข้ามาในคดี ก็ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้หลังจากพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันแรกของการประกาศในหนังสือพิมพ์ ซึ่งในการนี้กฎหมายตัดสิทธิเจ้าของทรัพย์สิน โดยจะอ้างว่ามิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดและร้องขอคืนทรัพย์สินภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ไม่ได้

 

 

ข้อแตกต่างระหว่างการริบทรัพย์สินตามมาตรา 27 (เกี่ยวเนื่อง) และ 30 (ของกลาง)

(1)  ทรัพย์สินตามมาตรา 30 เป็นของกลางที่ตำรวจยึดมา

ส่วนทรัพย์สินตามมาตรา 27 เป็นทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินยึดหรืออายัดมาตามวิธีการพิเศษที่บัญญัติไว้ใน พรบ.มาตราการฯ

(2) ทรัพย์สินตามมาตรา 27  บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สิน ก่อนคดีถึงที่สุด

ส่วนทรัพย์สินตามมาตรา 30 นั้น บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สิน ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง

(3) ทรัพย์สินตามมาตรา 27 พนักงานอัยการนำสืบเพียงว่า คดีมีมูลว่าทรัพย์สินที่ขอให้ศาลสั่งริบนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือนำสืบให้ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบทรัพย์สินเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน ซึ่งกฎหมายสันนิษฐานไว้ว่า บรรดาเงินหรือทรัพย์สินที่ผู้นั้นมีอยู่หรือได้มาเกินฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต  เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งนี้เพราะกฎหมายบัญญัติภาระหน้าที่ในการนำสืบตกแก่ฝ่ายจำเลย

ส่วนทรัพย์สินตามมาตรา 30 นั้น พนักงานอัยการโจทก์มีหน้าที่นำสืบเหมือนคดีอาญาทั่วๆไป โดยต้องนำสืบให้ได้ความตามคำร้อง แม้จะเป็นกรณีไม่มีผู้ใดอ้างว่าเป็นเจ้าของก็ตาม ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินของกลางโดยพนักงานอัยการโจทก์ไม่นำสืบให้ได้ความตามคำร้องไม่ได้  เพราะการริบทรัพย์สินเป็นโทษทางอาญาต่อจำเลย

(4) ทรัพย์สินตามมาตรา 30  นั้น แม้คดียาเสพติดศาลจะพิพากษายกฟ้อง กฎหมายก็ให้ศาลสั่งริบเสียทั้งสิ้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาในคดียาเสพติดนั้นหรือไม่

ทรัพย์สินตามมาตรา 27 นั้น หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องคดียาเสพติด ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินตามคำร้องของพนักงานอัยการไม่ได้ เพราะ พรบ.มาตราการฯบัญญัติให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง

 

นายเกรียงศักดิ์      นวลศรี     น.บ       น.บ.ท       วิชาชีพว่าความ         ที่ปรึกษากฎหมาย       และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com

Facebook Comments