Home คดีแพ่ง ดอกเบี้ยค้างชำระเรียกย้อนหลังได้กี่ปี?

ดอกเบี้ยค้างชำระเรียกย้อนหลังได้กี่ปี?

12040

คำถาม

ดอกเบี้ยค้างชำระเรียกย้อนหลังได้กี่ปี?

คำตอบ

คำพิพากษาศาลฎีกา 2983/2549

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ต้องผูกพันโดยตรงต่อผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่าง ๆ ให้จำเลยที่ 1 แล้วเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับรวมทั้งเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไปก่อนจากจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) การฟ้องร้องให้รับผิดตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไว้กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารจากโจทก์ไปขอรับสินค้าก่อนแล้วจะชำระเงินแก่โจทก์ภายหลัง ต่อมาจำเลยที่ 1 รับสินค้าไปแล้วไม่ชำระเงินแก่โจทก์ให้ครบถ้วนตามกำหนด หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจึงมิใช่เป็นหนี้ที่ผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 ป.พ.พ. มาตรา 193/33 วรรคหนึ่ง หมายความว่าดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นคงขาดอายุความเฉพาะส่วนที่เกิน 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังไป ดอกเบี้ยที่ค้างชำระส่วนที่ยังไม่เกิน 5 ปี ไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องย้อนหลังลงไปได้ไม่เกิน 5 ปี ธนาคารโจทก์ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของโจทก์เป็นระยะ ๆ ดังน้นหากนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปโจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 13.50 ต่อปี จะทำให้การคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี เป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าประกาศของโจทก์ในช่วงนั้นได้ ศาลฎีกาจึงกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในช่วงหลังวันฟ้องในอัตราลอยตัวคือ ในอัตราเงินให้กู้ยืมทุกประเภทที่ผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามภาวะตลาดการเงินตามประกาศของโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

สรุป โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องย้อนหลังลงไปได้ไม่เกิน 5 ปี

Facebook Comments