Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ เทคนิคการวางแผนต่อสู้คดียาเสพติด

เทคนิคการวางแผนต่อสู้คดียาเสพติด

43385

คำเตือน. บทความนี้ใช้เพื่อประกอบความรู้ในการศึกษากฎหมาย. ไม่ได้มีเจตนาให้เกิดการยุยงส่งเสริมในการยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกประเภท.

การวางแผนต่อสู้คดียาเสพติดของทนายความ
ต้องพิจารณาสาระสำคัญดังต่อไปนี้



1. บันทึกการจับกุมสำคัญที่สุด
ต้องตรวจสอบบันทึกการจับกุมของตำรวจหรือปปส. เพราะถือว่าเป็นเอกสารสำคัญที่สุดในคดี ตำรวจจะเบิกความขยายผลหรือขัดกับบันทึกการจับกุมหรือแตกต่างกันไม่ได้ และตำรวจต้องมอบสำเนาบันทึกการจับ ป.วิ.อ.มาตรา 84(1) (ฎีกา 6836/2541,3607/2538, 2705/2539, 63/2533,408/2485)

2. ถ้ามีถ้อยคำรับสารภาพในชั้นจับกุม ป.วิ.อ.มาตรา 84 วรรคสี่ ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลย ดังนั้น ถึงแม้จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ก็ไม่ได้มีผลเสียต่อรูปคดี ยังสามารถให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนและชั้นศาลได้ หากมิได้กระทำความผิดและมีพยานหลักฐานหักล้างโจทก์ได้

3. คำรับสารภาพของผู้ต้องหาในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนจะต้องมิได้เกิดจากการบังคับขู่เข็ญ ถ้าให้การเพราะถูกบังคับจากตำรวจ ถือว่ารับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยไม่ได้ ดังนั้นถึงแม้ผู้ต้องหารับสารภาพ ก็ยังกลับคำให้การในชั้นศาลต่อสู้คดีได้ หากมีพยานหลักฐานอื่นที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ตัวอย่างที่ศาลยกฟ้อง เช่น คำเบิกความของตำรวจชุดจับกุมซึ่งเป็นพยานคู่ แตกต่างกันในสาระสำคัญ เช่น สายลับ การส่งมอบยาเสพติด จำนวนยาเสพติด แหล่งที่พบยาเสพติด สถานที่ที่พบยาเสพติด ยานพาหนะที่ใช้ในการขนยาเสพติด หรือแตกต่างจากคำให้การของตนเองในชั้นจับกุม บันทึกการจับกุมในชั้นสอบสวนหรือแตกต่างจากบัญชีของกลาง แผนที่สังเขปที่ตัวเองเป็นผู้จัดทำขึ้น เป็นต้น (ฎีกา 1567-1568/2479, 8021/2544,6370/2539,7562/2537)

4. ถ้อยคำอื่นในบันทึกการจับกุมของผู้ต้องหา เช่น ยอมรับว่าได้ซื้อยาบ้ามาจากนาย ก. ยอมรับว่าค้ายามานานแล้ว ยอมรับว่านำยาบ้าไปซุกซ่อนไว้ที่ใดที่หนึ่ง รับฟังเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดจำเลยได้ ถ้าก่อนที่ตำรวจจะถามผู้ต้องหาได้เตือนผู้ต้องหาให้รู้ตัวก่อนว่า ถ้อยคำเกี่ยวกับยาเสพติดจะสามารถรับฟังลงโทษผู้ต้องหาได้ และต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า จะให้ถ้อยคำหรือไม่ก็ได้ จึงจะรับฟังลงโทษผู้ต้องหาได้ ป.วิ.อาญา มาตรา 84 วรรคท้าย (ฎีกา 3254/2553) ถ้อยคำอื่นในชั้นจับกุมของผู้ต้องหาหากเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีที่มาที่ไป ผู้ต้องหายังสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาคดีให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ เช่น ไม่ได้ให้ถ้อยคำดังกล่าว หรือถ้อยคำดังกล่าวขัดต่อเหตุผลไม่น่าจะเป็นไปได้ เป็นต้น

5. ของกลางขณะถูกจับ ถ้ามิได้อยู่กับผู้ต้องหา โอกาสต่อสู้คดีมีมาก แต่ถ้าตำรวจยัดยาหรือเขียนลงในบันทึกการจับกุมว่า จับได้พร้อมของกลาง โดยทั่วไปมุขของตำรวจมักจะระบุว่า จับได้ในมือข้างขวาหรือกระเป๋ากางเกงด้านขวา เป็นมุขเก่าๆ ดังนั้น ถ้าตำรวจยัดข้อหาดังกล่าวจะต้องไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม และให้ร้องขอความเป็นธรรมว่า ถูกยัดยาหรือจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันนี้ก็เป็นข้อต่อสู้ที่ต่อสู้ได้ ป.อ.มาตรา 83(ตัวการร่วม) ตัวอย่างข้อต่อสู้ เช่น ยาบ้าจำนวน 2,000 เม็ด เป็นยาบ้าจำนวนมากไม่น่าจะอยู่ในกระเป๋ากางเกงยีนส์ของจำเลยเพราะอาจแตกเสียหายได้ หรือยาบ้าบรรจุอยู่ในกระเป๋าเดินทาง ล็อคด้วยกุญแจพร้อมรหัส หรือยาบ้าวางอยู่กลางบ้านเปิดเผย หรือยาบ้าจำนวนน้อยอยู่ในกระเป๋ากางเกง หากจำเลยค้ายาบ้าจริง น่าจะถือไว้ในมือเพราะง่ายต่อการโยนทิ้งเพื่อทำลายหลักฐานหรือตำแหน่งที่จำเลยอยู่ห่างไกลจากยาเสพติด เป็นต้น

6. ของกลางที่พบในบ้านของผู้ต้องหา ถ้ามีผู้ต้องหาคนหนึ่งรับเป็นเจ้าของแล้ว เช่น สามีรับสารภาพว่าเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่ภรรยาจะหลุด ตำแหน่งที่พบของกลาง ถ้าซุกซ่อนปกปิดมิดชิดอยู่ คนที่ต้องติดคุกคือเจ้าของห้อง แต่บุคคลอื่นที่อยู่ในห้องอาจมีข้อสงสัยว่า อาจจะไม่ทราบว่ามียาเสพติด ยังมีลู่ทางต่อสู้อยู่ ตัวอย่างข้อต่อสู้ เช่น ไม่ได้พักอาศัยอยู่เป็นประจำ กลับบ้านดึก หรือมีบุคคลอื่นเข้าออกหลายคน

7. คำซัดทอดระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกัน มีน้ำหนักน้อย ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานรับฟังลงโทษจำเลยได้โดยลำพัง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 227/1 จะต้องมีพยานหลักอื่นประกอบ นอกจากคำซัดทอด เช่น พบยาเสพติดของกลางเพิ่มเติม เป็นต้น (ฎีกา 1014/2540,758/2487) ตัวอย่างข้อต่อสู้ เช่น พยานถูกจับข้อหาค้ายาเสพติด ซัดทอดจำเลยเพื่อต้องการลดโทษหรือตำรวจสัญญาว่าจะกันไว้เป็นพยาน คำให้การดังกล่าวไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

8. ธนบัตรล่อซื้อ การพบธนบัตรในตัวผู้ต้องหาไม่ได้หมายถึงว่า ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติด หากมีช่องว่างไม่ใกล้ชิดติดต่อกับช่วงเวลาจำหน่ายยาเสพติด และโจทก์ไม่มีพยานมายืนยันว่าเห็นจำเลยจำหน่ายยาเสพติด อาจมีข้อสงสัยว่าจำเลยอาจรับธนบัตรไว้ด้วยเหตุผลอื่นก็เป็นได้ ตำรวจจะลงประจำวันก่อนหรือจะไม่ลงประจำวันก็ได้ (ฎีกา 270/2542)

9. การล่อซื้อยาเสพติดของตำรวจ ถ้าผู้ต้องหามียาเสพติดอยู่แล้ว และสายลับล่อซื้อถือว่าทำได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 2(10) และเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมายตามความจำเป็นและสมควรแต่ถ้าผู้ต้องหาไม่ได้มียาเสพติดไว้ในความครอบครอง แต่ไปบังคับหรือใช้ให้ไปหายาเสพติดมาส่งมอบให้ตำรวจ ถือว่า เป็นการล่อซื้อที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานที่ได้มาจากการล่อซื้อรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ (ฎีกา 4301/2543, 4077/2549,4085/2545)

10.ยานพาหนะที่ใช้ในการส่งมอบยาเสพติดต้องถูกริบแต่ในทางปฏิบัติตำรวจมักเรียกเงินจากผู้ต้องหาและปล่อยรถไป แต่ถ้ารถยนต์ติดสัญญาเช่าซื้อ ต้องแจ้งยกเลิกสัญญากับบริษัทไฟแนนซ์แล้วให้ไฟแนนซ์ไปขอรถคืนจากตำรวจ

11.การหาทนายความว่าความคดียาเสพติด ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้

– มีประสบการณ์คดียาเสพติดมายาวนาน มองคดีทะลุปรุโปร่ง

– มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ไม่เน้นการวิ่งเต้น ยัดเงินให้ตำรวจ พวกนี้เรียกว่านักวิ่งความ ไม่ใช่ว่าความ เป็นภัยสังคม

– มองคดีแบบบูรนาการครบทุกด้าน

– มีแผนในการต่อสู้คดีที่สมเหตุสมผลน่าเชื่อถือ

– เปิดเผยแผนได้ ไม่ใช่อ้างว่าเป็นความลับบอกไม่ได้

– ต้องเน้นตัวบทกฎหมาย เวลาให้คำปรึกษากับตัวความ

– ยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาขึ้นมาสนับสนุนคำปรึกษาของตนเองว่าศาลฎีกาเคยวางแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลยและยกฟ้อง เป็นต้น

ทุกวันนี้มีการจับกุมคดียาเสพติดเป็นจำนวนมาก แล้วเมื่อจับผู้กระทำความผิดได้แล้ว ตำรวจมักจะทำการขยายผลเพื่อหาตัวผู้บงการใหญ่ซึ่งอยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติด โดยวิธีการของตำรวจมักจะเนินการด้วยวิธีการต่อไปนี้

1. บังคับให้ผู้กระทำความผิดใช้โทรศัพท์มือถือของตัวเองโทรไปหาบุคคลซึ่งติดต่อค้าขายยาเสพติดด้วย และให้หลอกล้อเพื่อนัดส่งยาเสพติด

2. หลังจากนั้นจึงสะกดรอย เพื่อรอจังหวะในการจับกุม

3. ตำรวจมักจะชักจูงให้ผู้กระทำความผิดที่จับได้โดยต่อรองว่าให้ความร่วมมือกับตำรวจ จะปล่อยตัวไป ส่วนใหญ่ผู้ต้องหามักกลัวและยอมทำตาม

4. เมื่อจับตัวผู้กระทำความผิดได้เพิ่มขึ้นแล้ว บางครั้งตำรวจก็ปล่อยตัวไป บางครั้งก็ลดจำนวนยาเสพติดของกลางให้ เช่น 4,000 เม็ด เหลือ 2,000 เม็ด หรือบางครั้งไม่มีการลดจำนวนยาเสพติด

5. สายลับของตำรวจ บางครั้งก็เป็นพวกขี้ยา ,บางครั้งก็เป็นตำรวจไม่แน่นอน

6. แหล่งผลิตยาเสพติดขนาดใหญ่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า , กัมพูชา , ลาว ยากในการจับกุม

7. ในกรณีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ความช่วยเหลือกับทางราชการในการขยายผล กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 ให้ศาลใช้ดุลยพินิจลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำ ที่กำหนดสำหรับความผิดนั้นก็ได้ ดังนั้นเมื่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ความช่วยเหลือในการบอกข้อมูลสำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้กับเจ้าพนักงานหรือ ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น มียาบ้าประมาณ 2,000 เม็ด เมื่อรับสารภาพศาลอาจลงโทษจำคุกเพียง 4 ปี เป็นต้น

บทสรุปเมื่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกจับ ควรให้ความร่วมมือในการขยายผล เพื่อหาตัวการใหญ่ เพราะจะได้ประโยชน์จากมาตรา 100/2

ปรึกษาคดียาเสพติด ปรึกษาคดีความ

ทนายกฤษดา โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments