Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ หลักการตอบข้อสอบวิชากฎหมายอาญา มีหลักการตอบเช่นเดียวกับการเขียนคำพิพากษาของศาล

หลักการตอบข้อสอบวิชากฎหมายอาญา มีหลักการตอบเช่นเดียวกับการเขียนคำพิพากษาของศาล

6466

IMG_8577.JPG

ศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 5729/2556
ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง และวรรคสาม เจตนา ประมาท
มาตรา 288 ฆ่าผู้อื่น
มาตรา 291 ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ข้อเท็จจริง
1. วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18.00 น. จำเลยที่ 1 และผู้ตายพากันไปดื่มสุราที่บ้านนาย ส. มีนาย จ. นาง ด. นางสาว ท. และนาง อ. พี่สาวของจำเลยที่ 2 ร่วมดื่มในวงสุราจนถึงเวลาประมาณ 20.30 น. จึงเลิกดื่ม นาย ส. บอกจำเลยที่ 1 ไปส่งผู้ตายแล้วจำเลยที่ 1 และผู้ตายออกจากบ้านไปด้วยกัน คืนนั้นผู้ตายไม่ได้กลับบ้าน วันที่ 5 ตุลาคม 2552 เวลาประมาณ 13.00 น. มีผู้พบศพผู้ตายในอ่างเก็บน้ำห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ต่อมานายแพทย์ จ. ได้ทำการตรวจพิสูจน์และลงความเห็นว่าผู้ตายถูกทำร้ายศีรษะด้านขวามีรอยช้ำ คอด้านขวามีรอยช้ำของกล้ามเนื้อ หน้าอกมีรอยช้ำ กระดูกซี่โครงขวาหักตั้งแต่ซี่ที่สามถึงซึ่ที่เจ็ด กระดูกซี่โครงซ้ายหักตั้งแต่ซี่ที่หกถึงซี่ที่เก้า ตับมีรอยฉีกขาด พบโลหิตตกในช่องท้อง สันนิษฐานว่าโลหิตออกเพราะตับอักเสบและตรวจพบสิ่งแปลกปลอมในถุงลมปอด เชื่อว่าผู้ตายสำลักน้ำแสดงว่าขณะจมน้ำยังมีชีวิตและสำลักเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด ……ตายเนื่องจากการจมน้ำตามรายงานการตรวจพิสูจน์

2. พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 33, 83, 91, 276, 288, 289(7) และริบรถจักรยานยนต์ของกลาง

2.1 พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องได้นั้นจะต้องมีการสอบสวนมาโดยชอบแล้ว (การสอบสวนที่ชอบประกอบไปด้วยหลัก คน ท้อง ชอบ ร้อง หา)

3. จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดหรือหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้ ส่วนข้อหาข่มขืนกระทำชำเราให้การปฏิเสธว่ากระทำความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราเท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

3.1 การรับสารภาพของจำเลย เช่นนี้ หลักกฎหมายที่จะใช้พิจารณาคือ ป.วิ.อ. มาตรา 176

3.2 ก่อนที่จำเลยจะยื่นคำให้การนั้น ป.วิ.อ. ที่จะนำมาพิจารณาประกอบไปด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 173, 172

4. ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 80, 288 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นลงโทษประหารชีวิต ฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราลงโทษจำคุก 8 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(2) ฐานฆ่าผู้อื่นคงจำคุกตลอดชีวิต ฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราคงจำคุก 4 ปี เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตในความผิดกระทงแรกแล้วไม่อาจนำโทษจำคุกในกระทงหลังมารวมได้อีก คงจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตสถานเดียว ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

4.1 ผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นเช่นนี้ ฝ่ายโจทก์หรือจำเลยจะอุทธรณ์ได้หรือไม่ในปัญหาข้อเท็จจริงให้พิจารณาจาก ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ

5. อัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ลงโทษจำคุก 10 ปีลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 5 ปีรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรารวมเป็นจำคุก 9 ปี……

5.1 การที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 291 ได้ทั้งๆ ที่โจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษนั้นเป็นผลของการใช้ ป.วิ.อ. มาตรา 192

6. อัยการโจทก์ยื่นฎีกา มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เจตนาฆ่าผู้ตายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า “ป.อ. มาตรา 59 วรรคสองบัญญัติว่า “การกระทำโดยเจตนาได้แก่การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น” วรรคสาม บัญญัติว่า ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้ ดังนั้น การที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าได้นั้น จำเลยที่ 1 ต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 คือ (1) ผู้ใด (2) ฆ่า (3) ผู้อื่น กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ต้องรู้ข้อเท็จจริงที่ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการฆ่าและรู้ด้วยว่าวัตถุแห่งการกระทำเป็นผู้อื่น หมายความว่า ผู้อื่นนั้นยังมีชีวิตอยู่ หากจำเลยที่ 1 เข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตาย (เป็นศพ) แล้ว ก็ไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้อื่น คดีนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะเกิดเหตุแต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 พยายามข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้ตายจนหมดสติแล้วนำไปทิ้งที่อ่างเก็บน้ำโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วซึ่งโจทก์ก็ฎีกายอมรับว่าขณะที่จำเลยที่ 1 นำผู้ตายไปทิ้งอ่างเก็บน้ำนั้นจำเลยที่ 1 สำคัญผิดว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงถือว่ามีเจตนาฆ่าผู้ตายหาได้ไม่ เพราะจำเลยที่ 1 มิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดอันจะถือว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลไม่ได้ ทั้งนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตายตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 291 มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 5

หมายเหตุ

การตอบข้อสอบในกฎหมายอาญาให้ยึดถือแนวทางตามที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในฎีกานี้เป็นหลักซึ่งประกอบไปด้วย
1. การวางหลักกฎหมาย
2. อธิบายหลักกฎหมาย
3. ปรับข้อเท็จจริงเข้ากับหลักกฎหมาย
4. สรุปผลว่า จำเลยกระทำผิดหรือไม่

ข้อมูลจาก ทบทวนหลักกฏหมายกับอาจารย์ประยุทธ

 

นายเกรียงศักดิ์   นวลศรี

น.บ  น.บ.ท  วิชาชีพว่าความ  ที่ปรึกษากฎหมาย  และผู้เขียนบทความในเว็บ.com

Facebook Comments