Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ด่วน!! กฎหมายค้ำประกัน จำนอง แก้ไขอีกรอบ 14/7/2558 พร้อมสาระ

ด่วน!! กฎหมายค้ำประกัน จำนอง แก้ไขอีกรอบ 14/7/2558 พร้อมสาระ

4465

 

เพิ่งแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับเรื่อง ค้ำประกัน-จำนอง ไปหมาดๆ

ยังไม่ทันได้อ่านประมวลฯที่แก้ไขเลย แก้ไขอีกแล้วหรอเนี่ยยยยยยย

วันนี้ (14 กรกฎาคม 2558) “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2558 ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้วนะ

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/063/30.PDF
มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป
หลักการที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ คือ….
– เพิ่มวรรคสองของ มาตรา 681/1 (ที่ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมตาม ฉบับที่ 20) เป็นดังนี้

“มาตรา 681/1 ข้อตกลงใดที่กําหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือ ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลและยินยอมเข้าผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ในกรณีเช่นนั้นผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นย่อมไม่มีสิทธิดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690”

หมายความว่า กรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคลและยินยอมเข้าผูกพันตน เป็นลูกหนี้ร่วมได้ ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ

– ยกเลิกมาตรา 685/1 (ที่ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมตามฉบับที่ 20) โดยให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 685/1 บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคหนึ่ง
วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 686 มาตรา 694 มาตรา 698 และมาตรา 699 เป็นโมฆะ”

หมายความว่า ห้ามขยายขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน (ตามมาตรา 681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 686 มาตรา 694 มาตรา 698 และ มาตรา 699) มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ

– ยกเลิกมาตรา 691 วรรคหนึ่ง (ที่ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมตามฉบับที่ 20) โดยให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 691 ในกรณีที่เจ้าหนี้ตกลงกับลูกหนี้อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ที่มีการค้ำประกันรวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น ให้เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตกลงกันนั้น ถ้าลูกหนี้ได้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดแล้วก็ดี ลูกหนี้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดไม่ครบถ้วนแต่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือนั้นแล้วก็ดีหรือลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ลดแต่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดนั้นแล้วก็ดี ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากการค้ำประกันในการชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันดังกล่าว ผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้แม้จะล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ได้ลดแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาชำระหนี้ดังกล่าว ในกรณีที่เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ได้ลดแล้ว ให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงนั้น ทั้งนี้ ข้อตกลงที่ทำขึ้นภายหลังที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว หากในข้อตกลงนั้นมีการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ มิให้ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาตามมาตรา 700

ข้อตกลงใดที่มีผลเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ค้ำประกันให้มากกว่าที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ข้อตกลงนั้น เป็นโมฆะ”

หมายความว่า ถ้าเจ้าหนี้ลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ชั้นต้นเท่าใด ให้แจ้งผู้ค้ำประกันทราบเป็นหนังสือภายใน 60 วันนับแต่วันที่ตกลงกับลูกหนี้ ถ้าลูกหนี้ชำระเท่าใด หรือผู้ค้ำประกันชำระไปเท่าใด ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นเท่านั้น โดยผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้แม้ล่วงเวลาชำระหนี้ตามที่เจ้าหนี้ได้ลดให้แก่ลูกหนี้ แต่จะต้องไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่ครบกำหนด ข้อตกลงใดที่จะมีผลเป็นอย่างอื่นในลักษณะเพิ่มภาระให้แก่ผู้ค้ำประกัน ให้ตกเป็นโมฆะ

– เพิ่มวรรคสามของ มาตรา 700 (ที่ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมตาม ฉบับที่ 20) เป็นดังนี้

“มาตรา 700 ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชําระ ณ เวลามีกําหนดแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ผู้ค้ำประกันจะได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้น

ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันทําไว้ล่วงหน้าก่อนเจ้าหนี้ผ่อนเวลาอันมีผลเป็นการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลา ข้อตกลงนั้นใช้บังคับมิได้

ความในวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้าง
เป็นปกติธุระ”

หมายความว่า หากมีการตกลงกันไว้เป็นการล่วงหน้าว่าเจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันให้ความยินยอมในการผ่อนเวลานั้นๆด้วย เช่นนี้ กฎหมายใหม่ให้ถือว่าตกเป็นโมฆะแต่ไม่ใช้กับผู้ค้ำประกันที่เป็นสถานบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ

– ยกเลิกมาตรา 727/1 วรรคสอง (ที่ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมตามฉบับที่ 20) โดยให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 727/1 ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ผู้จํานองซึ่งจํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จํานองในเวลาที่บังคับจํานองหรือเอาทรัพย์จํานองหลุด

ข้อตกลงใดอันมีผลให้ผู้จำนองรับผิดเกินที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง หรือให้ผู้จำนองรับผิดอย่างผู้ค้ำประกัน ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ไม่ว่าข้อตกลงนั้นจะมีอยู่ในสัญญาจำนองหรือทำเป็นข้อตกลงต่างหาก ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นกรณีที่นิติบุคคลเป็นลูกหนี้และบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการตามกฎหมายหรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้จำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้นั้นของนิติบุคคลและผู้จำนองได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้เป็นสัญญาต่างหาก”

หมายความว่า ข้อตกลงใดๆ ให้ผู้จำนองรับผิดเกินกว่าทรัพย์ที่จำนองหรือรับผิดเสมือนผู้ค้ำประกัน ไม่ว่าจะเขียนรวมมาในสัญญาหรือเขียนแยกสัญญา เป็นโมฆะทั้งสิ้น เข้าใจง่ายๆ คือ หากเราเอาทรัพย์มาค้ำประกันโดยการจำนองแก่เจ้าหนี้เพื่อค้ำประกันบุคคลอื่น ถ้ามีการบังคับจำนองหรือเอาจำนองหลุด เงินยังขาดเท่าใด เราไม่ต้องรับผิดเลย แต่ทั้งนี้ ไม่ให้ใช้แก่กรณีที่ลูกหนี้เป็นนิติบุคคล แล้วผู้มีอำนาจจัดการนิติบุคคลนั้นเป็นผู้จำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ของนิติบุคคลโดยทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่างหาก

– ข้อตกลงใดที่ได้ทำขึ้นระหว่างวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย
แพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับจนถึงวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

– ในกรณีที่เจ้าหนี้กระทำการใด ๆ ระหว่างวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับจนถึงวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ที่มีการค้ำประกัน รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น ให้เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงการลดหนี้ดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากการค้ำประกันตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้

อ่านแล้วก็ยังงงๆ ไม่รู้ว่ากฎหมายเรื่องนี้จะนิ่งเมื่อไหร่…
..จะได้ซื้อประมวลใหม่ซะที…

 

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 จิ้มนี่เลย >> https://www.dlo.co.th/files/Gurantee_Morgage.PDF

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2558

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/063/30.PDF

ที่มา เพจรู้ทันกฎหมาย

Facebook Comments