Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ผู้เยาว์ฟ้องคดีละเมิดเองจะมีอายุความมากกว่า 1 ปี หรือไม่และจะขัดกับ ป.พ.พ. มาตรา 448 หรือไม่

ผู้เยาว์ฟ้องคดีละเมิดเองจะมีอายุความมากกว่า 1 ปี หรือไม่และจะขัดกับ ป.พ.พ. มาตรา 448 หรือไม่

6498

IMG_8734.JPG

โดยให้ศึกษาดังคำพิพากษาฎีกาที่ 1139/2557

 

ป.พ.พ. มาตรา 193/20 อายุความสิทธิเรียกร้องของผู้เยาว์ในคดีละเมิด

ข้อเท็จจริง

1. โจทก์เป็นบุตรของนางสาว ป. ที่เกิดจากนาย ว. ซึ่งเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2545 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 11-5879 กรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยขับไปตามถนนเตชะวณิชย์ จากสะพานสูง
มุ่งหน้าแยกสะพานแดง เมื่อถึงที่เกิดเหตุได้เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน บคน 211 กรุงเทพมหานคร ที่นาย ส. ขับสวนทางมาโดยมีนางสาว ป. มารดาโจทก์นั่งซ้อนท้าย ทำให้นาย ส. และนางสาว ป. ถึงแก่ความตาย ซึ่งขณะที่นางสาว ป. ถึงแก่ความตาย โจทก์มีอายุ 18 ปีเศษ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 (วันเกิดเหตุละเมิด 16 พ.ย. 2545) หลังจากโจทก์บรรลุนิติภาวะแล้วเก้าเดือนเศษ

2. คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เพราะโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันเกิดเหตุแล้ว การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งเป็นเวลากว่า 2 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

3. ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าเหตุละเมิดในคดีนี้เกิดเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2545 ขณะเกิดเหตุโจทก์ยังเป็นผู้เยาว์มีอายุเพียง 18 ปี 6 เดือน 15 วัน ดังนั้นแม้อายุความ 1 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 448
จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันทำละเมิดตามที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าในวันครบกำหนด 1 ปี โจทก์มีอายุเพียง 19 ปี 6 เดือน 15 วัน ซึ่งถือว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือลุถึงความสามารถเต็มภูมิ อายุความ 1 ปี จึงยังไม่ครบจนกว่าจะครบ 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์ลุถึงความสามารถเต็มภูมิตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/20 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 ภายหลังจากโจทก์ลุถึงความสามารถเต็มภูมิ 9 เดือนเศษ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

4. นอกจากนี้ศาลฎีกายังวางหลักกฎหมายว่าในส่วนค่าขาดไร้อุปการะว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาว ป. ผู้ตายมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม โดยไม่ต้องพิจารณาว่าในขณะนั้นผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือไม่ เมื่อพิจารณาถึงอายุและสถานภาพของโจทก์ซึ่งได้ความว่าเป็นนักศึกษากำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีและความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้วที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้เป็นเงินจำนวน 139,500 บาท เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว

 

 

นายเกรียงศักดิ์    นวลศรี

น.บ   น.บ.ท   วิชาชีพว่าความ    ที่ปรึกษากฎหมาย     และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com

 

Facebook Comments