Home ทริบเทคนิค/บทความ ทำร้ายร่างกายและขับไล่ออกจากบ้านเป็นเหตุฟ้องหย่าได้

ทำร้ายร่างกายและขับไล่ออกจากบ้านเป็นเหตุฟ้องหย่าได้

5070

 

มูลคดีเกิด คือต้นเหตุอันเป็นที่มาของคำฟ้อง

จำเลยได้กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา โดยทำร้ายร่างกายโจทก์และขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน อันเป็นเหตุฟ้องหย่า เมื่อโจทก์จำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนั้นจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิด

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4443/2546

คำว่า “มูลคดีเกิด” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1)หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาของคำฟ้อง โจทก์ฟ้องหย่าจำเลย ต้นเหตุของคำฟ้องคือเหตุหย่า ส่วนการจดทะเบียนสมรสเป็นต้นเหตุของความเป็นสามีภริยากัน สถานที่จดทะเบียนสมรสจึงมิใช่เป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิด เมื่อโจทก์จำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยได้กระทำการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา โดยทำร้ายร่างกายโจทก์และขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน อันเป็นเหตุฟ้องหย่า จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิด

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาจำเลยโดยจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายที่สำนักทะเบียนอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และอยู่กินกันที่บ้านเลขที่ 256/2 หมู่ที่ 6ตำบลเขาพระทอง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช จนเกิดบุตรด้วยกัน 1 คน ปัจจุบันอายุ 5 ขวบ ระหว่างอยู่กินด้วยกัน จำเลยกระทำการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาโดยทำร้ายร่างกายโจทก์เป็นประจำและขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน จนโจทก์ไม่อาจทนอยู่กินเป็นภริยาจำเลยได้อีกต่อไป จึงขอศาลพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลยและขอให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียว

ชั้นตรวจคำฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำฟ้องว่า คดีนี้ภูมิลำเนาของจำเลยและมูลคดีอันเป็นเหตุที่โจทก์อ้างเพื่อขอหย่าอยู่นอกเขตอำนาจของศาลพัทลุง จึงให้คืนฟ้องโจทก์ไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า การที่โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลใดต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) คือ เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ ซึ่งคำว่า “มูลคดีเกิด” ย่อมหมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาของคำฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องหย่าจากจำเลย ต้นเหตุของคำฟ้องคือเหตุหย่า ส่วนการจดทะเบียนสมรสเป็นต้นเหตุของความเป็นสามีภริยากัน สถานที่จดทะเบียนสมรสจึงมิใช่เป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิดตามที่โจทก์อ้างมาในฎีกาแต่อย่างใดไม่เมื่อปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความว่าในระหว่างสมรสโจทก์จำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกันที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยได้กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา โดยทำร้ายร่างกายโจทก์และขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน อันเป็นเหตุฟ้องหย่า ฉะนั้นจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงเป็นสถานที่มูลคดีของเหตุฟ้องหย่าเกิด ทั้งปรากฏตามคำฟ้องว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ศาลจังหวัดพัทลุงตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลจังหวัดพัทลุงไม่รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ต่อศาลฎีกาจึงฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

( เกรียงชัย จึงจตุรพิธ – วิชัย วิวิตเสวี – สำรวจ อุดมทวี )

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(1) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ใน ราชอาณาจักรหรือไม่
(2) คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือ ต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล”

 

 ฟ้องหย่านอกเขตอำนาจศาลโดยไม่ได้ขออนุญาตฟ้อง

โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างมีภูมิลำเนาอยู่ตำบลมีนบุรี อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร ประกอบอาชีพค้าไม้ ในการติดต่อค้าขายโจทก์ไปพักที่บ้านนายผ่องบางครั้งจำเลยที่ 1 ไปพักอยู่ด้วย ต่อมาโจทก์ถูกจำคุก พ้นโทษแล้วโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ทำชู้กับจำเลยที่ 2 ที่บ้านนายผ่อง โจทก์ขอหย่า จำเลยที่ 1 ไม่ยอมหย่าแต่ตกลงแยกกันอยู่โดยจำเลยที่ 1 กลับไปอยู่บ้านเดิมของจำเลยที่ 1 คงไปมาเกี่ยวกับการค้าที่ตำบลเด่นชัย  โจทก์และจำเลยที่ 1 หาได้มีเจตนาถือเอาบ้านนายผ่องที่ตำบลเด่นชัยเป็นถิ่นที่อยู่หาไม่ หากแต่ไปพักอยู่เป็นครั้งคราว เมื่อไปติดต่อซื้อไม้เท่านั้น บ้านของนายผ่องจึงไม่ใช่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดแพร่ โดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลจังหวัดแพร่ โดยอ้างว่ามูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้นเมื่อฟังว่า จำเลยทั้งสองมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดแพร่ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดแพร่ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  373/2518

โจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยา มีภูมิลำเนาอยู่อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร แต่ไปติดต่อค้าขายซื้อสินค้าจาก ผ. ที่จังหวัดแพร่ ในการไปซื้อสินค้านี้โจทก์พักอยู่ที่บ้าน ผ. บางครั้งจำเลยที่ 1ไปพักด้วย ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีชู้และแยกกันอยู่ โดยจำเลยที่ 1 กลับไปอยู่ที่บ้านเดิมที่อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร แต่คงไปมาเกี่ยวกับการค้าที่จังหวัดแพร่ โดยพักค้างที่จังหวัดแพร่ โดยพักค้างที่บ้านญาติของโจทก์บ้าง ที่บ้าน ว. บ้าง ดังนี้แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 หาได้มีเจตนาที่จะถือเอาบ้านที่พักอยู่ที่จังหวัดแพร่เป็นถิ่นที่อยู่ไม่

โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลที่พิจารณาคดีโดยมิได้ขออนุญาตฟ้องต่อศาลนั้นไม่ได้

โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยโดยระบุตามคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลที่พิจารณาคดี เมื่อจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาล โดยอ้างว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตศาล ดังนี้ การที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนเสร็จสำนวน โดยมีคำสั่งคำร้องขอให้ชี้ขาดเบื้องต้นว่าจะได้ชี้ขาดในปัญหาดังกล่าวในคำพิพากษาจึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีแต่ประการใดหากแต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่แห่งใดซึ่งจะต้องฟังพยานหลักฐานให้เสร็จสิ้นกระแสความก่อนมีคำสั่ง

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของโจทก์มีชู้โดยร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์หย่ากัน และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทดแทน พร้อมกับดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยไม่เคยเป็นชู้ร่วมประเวณีกัน ค่าทดแทนที่เรียกร้องมากเกินไป หากโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากัน เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลพิพากษาให้หย่ากันโดยภริยามีชู้โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลโดยอ้างว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตศาล โจทก์แถลงยืนยันว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดแพร่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จะได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวในคำพิพากษาและดำเนินการสืบพยานต่อมาจนเสร็จสำนวน แล้วพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดแพร่ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างมีภูมิลำเนาอยู่ตำบลมีนบุรี อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร ประกอบอาชีพค้าไม้แปรรูปกับโต๊ะเก้าอี้นักเรียน โดยติดต่อซื้อสินค้าดังกล่าวจากนายผ่อง จารเขียน คนตำบลเด่นชัยจังหวัดแพร่ ในการติดต่อค้าขายกับนายผ่องนี้ โจทก์ไปพักที่บ้านนายผ่องบางครั้งจำเลยที่ 1 ไปพักอยู่ด้วย ต่อมาโจทก์ถูกจำคุกฐานมีไม้หวงห้ามไว้ในความครอบครอง พ้นโทษแล้วโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ทำชู้กับจำเลยที่ 2 ที่บ้านนายผ่อง โจทก์ขอหย่า จำเลยที่ 1 ไม่ยอมหย่าแต่ตกลงแยกกันอยู่โดยจำเลยที่ 1 กลับไปอยู่บ้านเดิมของจำเลยที่ 1 คงไปมาเกี่ยวกับการค้าที่ตำบลเด่นชัยและพักที่บ้านญาติของโจทก์บ้าง บ้านนางหวันบ้าง
ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 หาได้มีเจตนาถือเอาบ้านนายผ่องที่ตำบลเด่นชัยเป็นถิ่นที่อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 45ไม่ หากแต่ไปพักอยู่เป็นครั้งคราว เมื่อไปติดต่อซื้อไม้เท่านั้น บ้านของนายผ่องจึงไม่ใช่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดแพร่ โดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลจังหวัดแพร่ โดยอ้างว่ามูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้นเมื่อฟังว่า จำเลยทั้งสองมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดแพร่ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดแพร่ไม่ได้
การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนเสร็จสำนวน โดยมีคำสั่งคำร้องขอชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลว่า จะได้ชี้ขาดปัญหาดังกล่าวในคำพิพากษา จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีได้แต่ประการใด หากแต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่แห่งใด ซึ่งจะต้องฟังพยานหลักฐานให้เสร็จสิ้นกระแสความก่อนมีคำสั่งการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาลในคำพิพากษาแสดงว่า ศาลชั้นต้นมิได้อนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ เพราะถ้าถือว่าการที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนเสร็จสำนวน เป็นการอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลโดยปริยายแล้ว ศาลชั้นต้นก็คงไม่ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยในคำพิพากษาอีก
นายเกรียงศักดิ์    นวลศรี   

น.บ    น.บ.ท    วิชาชีพว่าความ    ที่ปรึกษากฎหมาย       และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com

Facebook Comments