หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวว่า “รวบหนุ่มประกันแสบ ตุ๋นโควต้าหวย 7.9 ล้านบาท” หนังสือพิมพ์ดังกล่าวจะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาหรือไม่
คำพิพากษาฎีกาที่ 3755/2557
ป.อ. มาตรา 326 หมิ่นประมาท
มาตรา 328 หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
มาตรา 329 (3) แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต
ข้อเท็จจริง
1. หนังสือพิมพ์บ้านเมืองฉบับวันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2552 หน้า 1 พาดหัวข้อข่าวว่า “รวบหนุ่มประกันแสบ ตุ๋นโควตาหวย 7.9 ล้าน” และข้อความในคำบรรยายภาพว่า “ตุ๋นขายสลาก…… พันตำรวจเอก ข. สอบปากคำนาย อ. อายุ 36 ปี หลังมีผู้เสียหายรวมตัวกันเข้าแจ้งความดำเนินคดีฐานฉ้อโกงทรัพย์ด้วยการหลอกให้ซื้อลอตตารีมูลค่าหลายล้านบาท มีการลงข้อความข่าวย่อยสรุปใจความได้ว่า “รวบหนุ่มขายประกันตุ๋นชาวบ้านซื้อโควต้าลอตตารี 100,000 ฉบับ ราคา 7.9 ล้านบาท ลวงขอดูแคชเชียร์เช็คล่วงหน้า พร้อมให้รับสินค้าที่กองสลาก แต่ถึงเวลากลับเบี้ยวนัด พันตำรวจเอก ข. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามเชิญตัวนาย อ. อายุ 36 ปี ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยคดีฉ้อโกงทรัพย์ผู้อื่นมาสอบสวน เนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนหลายรายได้เดินทางมาร้องทุกข์กับตนว่าถูกนาย อ. หลอกลวงด้วยการอ้างว่าสามารถซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ในราคาถูก…..
2. มีปัญหาในชั้นฎีกาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 326 และ 328 หรือไม่
3. ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และมาตรา 328 นี้ เกี่ยวข้องกับสิทธิของบุคคล คือ ชื่อเสียงและความสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมเพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองความสงบสุขของสังคมส่วนรวมหรือสาธารณะโดยสิทธิของบุคคลนั้นจะไม่ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจากบุคคลทั่วไป แต่หากว่าเรื่องส่วนบุคคลนั้นมีประโยชน์ต่อสาธารณะ ผู้แสดงความเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตจะได้รับยกเว้นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 แต่ผู้นั้นต้องมีหน้าที่นำสืบให้เข้าเงื่อนไขว่าตนเองได้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 329(1) ถึง (4)
ในกรณีที่ผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจเชิญไปสอบถามเนื่องจากมีผู้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า ผู้เสียหายกระทำความผิดฐานฉ้อโกงเพราะถูกผู้เสียหายหลอกลวงด้วยการอ้างว่าสามารถซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ในราคาถูกหากพฤติการณ์การกระทำของผู้เสียหายเป็นจริงก็เข้าลักษณะเป็นการกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องอันมีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมโดยรวม จึงอยู่ในวิสัยของประชาชนที่จะติชมด้วยความเป็นธรรมได้ การเสนอข่าวดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะไม่เข้าข่ายการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่ตกเป็นข่าว ทั้งข้อความข่าวที่ลงตีพิมพ์นั้นปรากฏว่าอยู่ภายในกรอบข้อเท็จจริงที่พันตำรวจเอก ข. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ผู้เสียหายตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าากระทำความผิดฐานฉ้อโกง เจ้าพนักงานตำรวจจะทำการสืบสวนหาความจริงให้กระจ่างก่อนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ไม่ปรากฏว่ามีข้อความใดยืนยันว่าผู้เสียกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ส่วนคำว่า “ตุ๋น” นั้น บุคคลทั่วไปทราบเป็นอย่างดีว่ามีความหมายเช่นเดียวกับหลอกลวงจึงเป็นการใช้คำให้กระชับ สั้น โดยได้ใจความเหมือนกันไม่ทำให้มีความหมายแตกต่างไปจากที่พันตำรวจเอก ข. แถลงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนแต่อย่างใด ดังนั้นข้อความที่ลงตีพิมพ์ตามหนังสือพิมพ์บ้านเมือง จึงเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำตาม ป.อ. มาตรา 329(3)
หมายเหตุ
1. หลักกฎหมายมีว่าการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต โดยการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 329(3)
นายเกรียงศักดิ์ นวลศรี
น.บ น.บ.ท วิชาชีพว่าความ ที่ปรึกษากฎหมาย และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com