จากกรณีที่เราเห็นบ่อยครั้งที่มีการนำภาพผู้ป่วยมาโพสต์กันนั้น ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการเผยแพร่ข้อมูลของผู้ป่วย ทั้งอาการเจ็บป่วย รูปภาพผู้ป่วยผ่านทางโซเชียลมากมาย บ้างก็อาจมาจากประชาชนทั่วไป หรือบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีเจตนาดีต้องการช่วยเหลือผู้ป่วย เช่น การขอรับบริจาคเลือดหายาก
ที่เป็นข่าวดังคือกรณี แตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ สังคมได้รับรู้เรื่องดังกล่าว เนื่องจากเพื่อนสนิทของแตงโม ได้นำคลิป ขณะอยู่ในห้อง ICU มาเผยแพร่ลงใน IG ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า การนำภาพผู้ป่วยมาเผยแพร่เช่นนี้เป็นเรื่องผิดหรือไม่
เมื่อผมลองไปศึกษาข้อกฎหมายในกรณีนี้ก้พบว่ามีกฎหมายที่ห้ามไว้ อันเป็นละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และขัดต่อพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 7 ที่ระบุว่า ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยและอาจทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นโดยตรง และไม่ว่าในกรณีใด ๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่า ด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพของบุคคลไม่ได้
แม้โดยส่วนใหญ่คนที่โพสหรือเผยแพร่จะมีเจตนาดีในการโพสต์ข้อมูลเพื่อจะช่วยเหลือผู้ป่วย ในการนี้ก็ต้องระมัดระวัง เนื่องจากหากมีการโพสต์รูปภาพ หรือข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นเอดส์ ขาดแคลนเลือด ต้องการรับบริจาคด่วน ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการระบุโรค การโพสต์ในลักษณะนี้ ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะมีการระบุโรค เข้าข่ายผิดมาตรา 7 ซึ่งหากญาติผู้ป่วย หรือผู้ป่วยต้องการฟ้องร้อง สามารถดำเนินการได้ โดยผู้ละเมิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สิ่งสำคัญคือ หากเราต้องการแชร์ข้อมูล เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยก็ควรได้รับการยินยอมจากญาติและผู้ป่วยเสียก่อน และการนำข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยมาเผยแพร่ ต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหาย มิเช่นนั้นจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทได้ นะครับ
พระราชบัญญัติ สุขภาพแหงชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
http://www.acfs.go.th/km/download/act_healthy_2550.pdf
นายเกรียงศักดิ์ นวลศรี
น.บ น.บ.ท วิชาชีพว่าความ ที่ปรึกษากฎหมาย และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com