Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ จำเลยสู้เรื่องเขตอำนาจศาล แล้วศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลต้องสั่งคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์หรือไม่

จำเลยสู้เรื่องเขตอำนาจศาล แล้วศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลต้องสั่งคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์หรือไม่

7922

 

คำถาม จำเลยยื่นคำให้การยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นต่อสู้กับกรณีที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นวินิจฉัยเอง แล้วพิพากษายกฟ้อง ทั้งสองกรณีดังกล่าวศาลจะต้องสั่งคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์หรือไม่

คำตอบ มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

( ก) กรณีที่ศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7953 / 2554

โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งแปดรับผิดชำระเงินตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4 บัญญัติว่า “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น (1) คำฟ้องให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่” การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งแปดให้รับผิดตามสัญญาซื้อขายที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชรโดยจำเลยทั้งแปดมิได้มีภูมิลำเนาที่จังหวัดกำแพงเพชร และมูลคดีก็มิได้เกิดขึ้นที่จังหวัดกำแพงเพชรเพราะข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการตกลงซื้อขายข้าวเปลือกกันที่จังหวัดพิจิตร และมีการส่งมอบข้าวเปลือกกันตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งไม่ใช่จังหวัดกำแพงเพชร ศาลจังหวัดกำแพงเพชรจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ และเมื่อปรากฏในชั้นทำคำพิพากษาว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาและพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องได้โดยไม่ต้องวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นอื่นๆ ตามคำฟ้องและคำให้การต่อไป เพราะไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลติธรรม มาตรา 18 ทั้งการที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในกรณีนี้ เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยเอง โดยที่จำเลยทั้งแปดมิได้ยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ ดังนั้น การพิพากษายกฟ้องจึงถือเสมือนการสั่งไม่รับคำฟ้องนั้นเอง ศาลชั้นต้นจึงต้องสั่งคืนค่าขึ้นศาลให้แก่โจทก์ทั้งหมดตาม ป.วิ.พ. 151 วรรคหนึ่ง (เดิม)

 

(ข) กรณีที่จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้ไว้เป็นประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8947 / 2547

โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ได้ชำระไปแล้วคืนเพราะจำเลยผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทำที่สำนักงานของจำเลยในกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครจึงเป็นสถานที่มูลคดีเกิด ส่วนจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ดินที่โจทก์ตกลงจะซื้อจะขายกันถือไม่ได้ว่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดด้วย เมื่อมูลคดีมิได้เกิดในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ดินดังกล่าวโจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น

การที่โจทก์เสนอคำฟ้องโดยอ้างว่ามูลคดีเกิดในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ย่อมเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นเข้าใจว่าโจทก์มีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาในเบื้องต้น เมื่อจำเลยยื่นคำให้การและยกเรื่องเขตอำนาจศาลขึ้นต่อสู้ไว้ด้วย คดีจึงมีประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาลที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยโดยรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนที่โจทก์จำเลยนำสืบ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามูลคดีเกิดในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความในชั้นตรวจคำฟ้อง หรือสั่งแก้ไขคำสั่งรับฟ้องเป็นไม่รับฟ้องเพื่อให้โจทก์นำคำฟ้องไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจก็ตาม การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงหาเป็นการไม่ชอบไม่

ศาลชั้นต้นได้รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษาชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้วก็ย่อมไม่มีอำนาจสั่งคืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ศาลคืนค่าธรรมเนียมทั้งหมดเฉพาะกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโดยยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีเท่านั้น ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับจึงชอบแล้ว

มีปัญหาเกี่ยวกับคดีความปรึกษาทนายกฤษดา 089-142-7773

ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments