Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ หลัก ป.พ.พ. เรื่อง จำนอง มีว่า “เจ้าของทรัพย์เท่านั้นที่จำนองได้” มีความหมายอย่างไรและหากผู้มิใช่เจ้าของนำไปจำนองมีผลอย่างไร

หลัก ป.พ.พ. เรื่อง จำนอง มีว่า “เจ้าของทรัพย์เท่านั้นที่จำนองได้” มีความหมายอย่างไรและหากผู้มิใช่เจ้าของนำไปจำนองมีผลอย่างไร

5052

 

 

 

ศึกษาวิเคราะห์จากฎีกา 557/2557
ป.พ.พ. มาตรา 456 ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์
มาตรา 705 เจ้าของทรัพย์เท่านั้นที่จำนองได้
มาตรา 1299 วรรคสอง จดทะเบียนทรัพยสิทธิ
มาตรา 1367 สิทธิครอบครอง

ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และ ก. บิดาผู้ร้องที่ 3 พร้อมกับผู้ร้องที่ 4 ต่างซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตั้งแต่เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 1068 โดยแต่ละคนได้รับการครอบครองที่ดินพิพาทของแต่ละคนจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตั้งแต่เมื่อมีการซื้อขายกัน แม้การซื้อขายมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่หาทำให้การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองของผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ก. และผู้ร้องที่ 4 ในที่ดินพิพาทที่ยึดถือครอบครองเพื่อตนแต่ละคนต้องเสื่อมเสียตกเป็นโมฆะไปด้วยไม่ ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 ก. และผู้ร้องที่ 4 จึงได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยผลของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ผู้ร้องที่ 3 ซึ่งได้รับโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของ ก. ผู้เป็นบิดาย่อมอยู่ในฐานะผู้สืบสิทธิครอบครองของ ก. ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงสิ้นสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่นั้นเป็นต้นมา และไม่มีสิทธิที่จะนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนที่ตนมิได้เป็นเจ้าของไปขอออกทะเบียนที่ดินในโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ การขอออกโฉนดที่ดินในส่วนของที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงไม่ชอบ แม้บริษัท ศ. จะจดทะเบียนรับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4026 ซึ่งครอบคลุมที่ดินพิพาทอยู่ด้วยจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เมื่อมิใช่การรับจำนองจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 ที่บัญญัติว่า “การจำนองทรัพย์สินนั้นนอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว ท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่” การจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4026 เฉพาะส่วนที่ดินพิพาทจึงไม่มีผล ทำให้บริษัท ศ. ไม่อาจยกสิทธิจำนองขึ้นต่อสู้ผู้ร้องทั้งสี่ผู้เป็นเจ้าของได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า “ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน” เพราะการจะอ้างว่าตนเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์มาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วจะต้องปรากฏว่าทะเบียนที่ดินของที่ดินพิพาทซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นจะต้องออกโดยถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ซึ่งรับโอนการจำนองจากบริษัท ศ. ผู้รับจำนองจึงไม่มีสิทธิดีไปกว่าผู้โอน โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์รับโอนสิทธิจำนองมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ ผู้ร้องทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท

 

 

นายเกรียงศักดิ์       นวลศรี

น.บ   น.บ.ท   วิชาชีพว่าความ    ที่ปรึกษากฎหมาย    และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com

Facebook Comments