Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ เหตุบันดาลโทสะ ตามกฎหมายอาญา เป็นเหตุให้มีการลดโทษมีหลักการอย่างไร

เหตุบันดาลโทสะ ตามกฎหมายอาญา เป็นเหตุให้มีการลดโทษมีหลักการอย่างไร

25496

 

คำถาม

เหตุบันดาลโทสะ ตาม ป.อ. เป็นเหตุให้มีการลดโทษมีหลักการอย่างไร

หลักเกณฑ์ในเรื่องบันดาลโทสะ ประกอบไปด้วย
1. ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
2. การที่ถูกข่มเหงเช่นนั้นเป็นเหตุให้ผู้กระทำบันดาลโทสะ
3. ผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะบันดาลโทสะ

ส่วนต่อไปยาวหน่อยนะครับสำหรับผู้ที่สนใจ

ศึกษาวิเคราะห์จากฎีกาที่ 15585/2557
ป.อ. มาตรา 72 บันดาลโทสะ

จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายกำลังขับรถยนต์เลี้ยวเข้าสถานีบริการน้ำมัน แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยทราบว่าผู้เสียหายมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับภริยาจำเลยและจำเลยยังขุ่นเคืองผู้เสียหายก็ตาม แต่จำเลยหาได้กระทำต่อผู้เสียหายในขณะที่พบเห็นผู้เสียหายเป็นชู้กับภริยาจำเลยหรือในระยะเวลาที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกันถือไม่ได้ว่าจำเลยยิงผู้เสียหายเพราะเหตุบันดาลโทสะในขณะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตาม ป.อ. มาตรา 72 (คดีนี้จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 และมาตรา 371 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามมาตรา 91)

หมายเหตุ
ป.อ. มาตรา 72 บัญญัติว่า ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
หลักเกณฑ์ในเรื่องบันดาลโทสะ ประกอบไปด้วย
1. ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
2. การที่ถูกข่มเหงเช่นนั้นเป็นเหตุให้ผู้กระทำบันดาลโทสะ
3. ผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะบันดาลโทสะ
ในการศึกษา ป.อ. มาตรา 72 ในวันนี้ ศึกษากรณีผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะบันดาลโทสะ
ในขณะบันดาลโทสะ หมายถึง ในระหว่างที่ยังบันดาลโทสะอยู่นั่นเอง คำว่า ในขณะนั้น ใน ป.อ. มาตรา 72 มิได้หมายความว่า ต้องเป็นขณะเดียวกันกับการข่มเหงและบันดาลโทสะ การกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในระยะเวลาต่อเนื่องอย่างกระชั้นชิดในขณะที่ยังมีโทสะรุนแรงอยู่ก็นับว่าเพียงพอแล้ว
ให้ศึกษาเพิ่มเติมจากฎีกาต่อไปนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1260/2513
ป.อ. มาตรา 72, 288
ผู้ตายวิ่งไล่น้องสาวจำเลยเพื่อจะข่มขืนจนมาถึงเรือนจำเลยแล้วร้องด่าท้าทายขู่เข็ญข้างนอกเรือนจำเลยอยู่ตลอดเวลา จนจำเลยระงับโทสะไม่อยู่ คว้ามีดพร้าลงจากเรือนไล่ตามหลังผู้ตายไปทันในระยะทางประมาณ 8 เส้น และฟันผู้ตายตรงนั้นเช่นนี้ นับว่าเป็นพฤติการณ์ถึงขนาดอันถือได้ว่าเป็นการถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และเป็นการกระทำลงในระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดในขณะที่โทสะยังรุนแรงอยู่ อันถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72

คำพิพากษาฎีกาที่ 1601/2532
ป.อ. มาตรา 6, 72, 288
ผู้ตายถือ มีดดาบติดตัว เข้าไปในโรงเรียนซึ่ง อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลย เมื่อจำเลยห้ามปราม ผู้ตายไม่เชื่อฟังกลับใช้มีดดาบฟันศีรษะจำเลยจนได้รับบาดเจ็บมีโลหิตไหล จำเลยแย่งมีดดาบจากผู้ตายได้ แล้วเดิน ออกจากโรงเรียนเพื่อจะไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ผู้ตายมาดัก ขอโทษจำเลยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำเลยไม่ยอมยกโทษให้ผู้ตาย และได้ ใช้ มีดดาบที่ถือ อยู่ในมือฟันผู้ตายถึง แก่ความตายการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันสิทธิตามกฎหมาย เพราะภยันตรายผ่านพ้นไปแล้ว และไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึงอีก แต่ การที่จำเลยใช้ มีดฟันผู้ตายหลังจากเกิดเหตุในตอนแรกแล้วประมาณ 3-4 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดในขณะที่โทสะยังรุนแรงอยู่ อันเนื่องมาจากถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วย เหตุอันไม่เป็นธรรม เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดย บันดาลโทสะ.

คำพิพากษาฎีกาที่ 1756/2539
ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ป.อ. มาตรา 72
ขณะจำเลยกับพวกและผู้ตายกับพวกดูภาพยนตร์ในงานศพผู้ตายกับพวกใช้ขวดสุราขว้างปาจอภาพยนตร์และล้มจอระหว่างผู้ตายกับพวกเดินกลับบ้านได้ร่วมกันทำร้ายน้องชายจำเลยจนตกลงในคูน้ำเมื่อมาพบจำเลยกับเด็กเดินสวนทางมาก็ได้ร่วมกันทำร้ายจำเลยฝ่ายเดียวจนตกลงไปในคูน้ำจำเลยวิ่งกลับบ้านซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ300เมตรเอามีดมาต่อสู้กับพวกผู้ตายแม้ไม่ได้กระทำลงทันทีหรือณที่ซึ่งถูกข่มเหงแต่อยู่ในระยะเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกันถือว่าจำเลยกระทำผิดด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและแม้จำเลยมิได้ยกเรื่องนี้ขึ้นต่อสู้ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1821/2543
ป.อ. มาตรา 72
ผู้ตายเมาสุรามากกลับมาบ้าน ผู้ตายเอะอะหาเรื่องจำเลยหลายเรื่อง และกล่าวหาว่าจำเลยเอามีดของผู้ตายไปซ่อน ผู้ตายบอกให้จำเลยออกจากบ้านมิเช่นนั้นจะสับให้เป็นชิ้น แล้วใช้มีดดังกล่าวไล่ฟันจำเลยก่อน จำเลยวิ่งไป บ้านน้องผู้ตายซึ่งอยู่ใกล้กัน มีผู้ตายถือมีดวิ่งติดตามไป จำเลยต้องหลบหนีออกไปซ่อนตัวข้างต้นมะขามในทุ่งนา ผู้ตายหาจำเลยไม่พบจึงกลับบ้าน ปิดบ้านล็อกกุญแจนอน ต่อมาจำเลยกลับบ้าน แอบมองทางรอยแตกเห็นผู้ตายหลบอยู่ จึงใช้ลูกกุญแจไขเปิดประตูหน้าบ้านเข้าไป แล้วจำเลยใช้มีดฟันผู้ตายด้วยความโมโหที่ถูกผู้ตายวิ่งไล่ทำร้ายอยู่เป็นประจำการที่ผู้ตายใช้มีดไล่ฟันจำเลย นับว่าเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม แม้จำเลยจะเป็นภริยาผู้ตาย ผู้ตายก็หามีสิทธิที่จะกระทำแก่จำเลยเช่นนั้นไม่ ดังนี้ เมื่อจำเลยเกิดความโกรธ คือบันดาลโทสะ และจำเลยกระทำแก่ผู้ตายในทันทีเมื่อกลับมาถึงบ้านและพบผู้ตาย อันเป็นระยะเวลาห่างจากถูกข่มเหงเพียง 2 ชั่วโมงหรือ 2 ชั่วโมงเศษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำเลยต้องหลบหนีจากการที่ถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงจนถึงกับต้องไปแอบซ่อนตัวอยู่ในป่าละเมาะ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าการข่มเหงยังอยู่ในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอยู่ จึงตกอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ว่าจำเลยกระทำผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น การกระทำของจำเลยต้องด้วยบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72

คำพิพากษาฎีกาที่ 386/2546
ป.วิ.อ. มาตรา 227
ป.อ. มาตรา 59, 72, 288, 289 (4)
ก่อนเกิดเหตุ ผู้ตายได้พูดจาดูถูกจำเลยก่อนในลักษณะที่จำเลยเหมือนของเล่นได้แล้วจะเลิกเมื่อไรก็ได้ และเป็นหญิงใจง่ายหลอกกินเงินได้ เมื่อจำเลยโกรธและใช้รองเท้าตบหน้าผู้ตาย ผู้ตายกลับตามไปทำร้ายจำเลยอีก จนจำเลยทนไม่ได้เดินไปที่ห้องพักนำมีดปอกผลไม้ยาวประมาณ 1 ฟุตครึ่ง กลับมาใช้ปาดคอผู้ตาย ซึ่งเหตุการณ์ตั้งแต่ผู้ตายพูดจาดูถูกจำเลยแล้วจำเลยกลับไปบ้านพักนำมีดมาปาดคอจนผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น เป็นระยะเวลาที่สืบเนื่องเชื่อมโยงติดต่อกันมาโดยตลอดในขณะนั้นเองและเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ขาดตอน เนื่องจากห้องพักของจำเลยกับที่เกิดเหตุห่างกันไม่มากนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์ตระเตรียมการหรือวางแผนฆ่าผู้ตายมาก่อนการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะเท่านั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 6309/2533
ป.อ. มาตรา 72, 288
วันเกิดเหตุตอนใกล้เที่ยงวันจำเลยทราบเรื่องจากภริยาว่าผู้ตายข่มขืนกระทำชำเราภริยา แล้วจำเลยออกจากบ้านไปจับปลา การที่จำเลยพบผู้ตายในตอนเย็นระหว่างนำปลาที่จับได้ไปให้บิดาแล้วจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทันที ดังนี้ จำเลยหาได้กระทำต่อผู้ตายในขณะมีโทสะหรือระยะเวลาที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่มีโทสะไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตายกระทำการข่มเหงจำเลยอย่างใดอีก จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยยิงผู้ตายเพราะเหตุบันดาลโทสะ.

คำพิพากษาฎีกาที่ 708/2535
ป.อ. มาตรา 72, 289
ตอนแรกจำเลยที่ 1 ใช้ไม้ตี ก. เพราะถูก ก. ดุ ด่า และทำร้ายร่างกาย แต่หลังจาก ก. ดุด่าและทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1แล้ว ก. ได้เดินเข้าไปนั่งซ่อมโทรศัพท์อยู่ในห้อง จำเลยที่ 1เดินไปหาไม้ที่หลังบ้านมีช่วงเวลาที่จะคิดได้ว่าสมควรทำร้าย ก.หรือไม่ จำเลยที่ 1 หาไม่ได้แล้วเดินเข้าไปตี ก. ในขณะที่กำลังนั่งซ่อมโทรศัพท์อยู่ ก. ยังมีลมหายใจอยู่และส่งเสียงร้องจำเลยที่ 1 เกรงว่าเพื่อนบ้านจะได้ยินเสียงร้อง จึงใช้ผ้ารัดคอโดยแรงจนกระทั่งแน่นิ่งไปซึ่งเป็นการกระทำที่มีสาเหตุมาจากเกรงว่าเพื่อนบ้านจะได้ยินเสียงร้อง มิใช่เพราะสาเหตุถูกข่มเหงจึงมิใช่การกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 หลังจากจำเลยที่ 1 ฆ่า ก. แล้ว ขณะกำลังหาที่ซุกซ่อนศพและกลบเกลื่อนหลักฐานอยู่นั้น ส. บุตร ก. ได้เข้ามาเห็นสภาพภายในห้องที่เกิดเหตุซึ่งมีพิรุธผิดสังเกต จำเลยที่ 1เห็นเช่นนั้นก็ใช้ไม้ตี ส. เพื่อปกปิดความผิดฐานฆ่า ก.การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการฆ่า ส. เพื่อปกปิดความผิดอื่นและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ จำเลยที่ 1 ใช้ไม้ตี ส.หลายทีเมื่อส. ยังไม่ตาย จึงใช้ผ้ารัดคออีกจนถึงแก่ความตาย เป็นวิธีธรรมดาในการฆ่าให้ถึงแก่ความตายไป มิใช่เป็นการฆ่าโดยทารุณโหดร้าย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1203/2537
ป.อ. มาตรา 72
ขณะที่จำเลยทราบว่าภรรยาจำเลยถูกผู้เสียหายปลุกปล้ำกระทำชำเรานั้น จำเลยไม่ได้แสดงอาการโกรธหรือจะทำร้ายผู้เสียหายแต่ได้ออกไปหาปลาร่วมกับผู้เสียหายโดยมีเวลานานถึง 3 ชั่วโมงนับแต่ทราบเหตุดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงได้ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายจึงมิใช่เป็นการกระทำต่อผู้ถูกข่มเหงในขณะนั้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72

คำพิพากษาฎีกาที่ 3502/2548
ป.อ. มาตรา 81, 289
จำเลยโกรธผู้เสียหายเนื่องจากถูกทวงเงินค่าน้ำมันแล้วขับขี่รถจักรยานยนต์เสียงดังใส่หน้าผู้เสียหาย ต่อมาประมาณ 30 นาที จึงกลับมาใช้อาวุธปืนแก๊ปยิงผู้เสียหาย กรณีไม่ใช่เกิดโทสะแล้วยิงผู้เสียหายทันที หากแต่เกิดโทสะและออกจากที่เกิดเหตุแล้วประมาณ 30 นาที ซึ่งมีเวลาที่จะคิดไตร่ตรอง ถือว่ามีเจตนาผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เมื่อจำเลยยิงผู้เสียหายในระยะห่าง 20 เมตร กระสุนปืนถูกบริเวณคอด้านหน้าขวาและบริเวณชายโครงขวาด้านหน้าทั้งสองแห่งมีบาดแผลขนาด 0.5 เซนติเมตร ไม่มีความลึก รักษาหายภายใน 7 วัน แสดงว่ากระสุนปืนไม่มีความรุนแรงพอที่จะทำให้ถึงแก่ความตายได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุอาวุธปืนซึ่งเป็นปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 81 วรรคหนึ่ง

มีปัญหาเกี่ยวกับคดีความปรึกษาทนายกฤษดา

0999170039

IMG_9148.JPG

 

ขอบคุณข้อมูลอ.ประยุทธ์

Facebook Comments