Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ผิดลักทรัพย์ ไม่ผิดยักยอก

ผิดลักทรัพย์ ไม่ผิดยักยอก

6863

การวินิจฉัยว่าการกระทำใดเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์นั้น   เห็นว่าการพิจารณานั้นต้องดูว่าขณะเกิดเหตุนั้นทรัพย์นั้นอยู่ในการครอบครองของผู้ใด  ถ้าทรัพย์นั้นอยู่ในการครอบครองของเจ้าของทรัพย์หรือผู้อืนครอบครองไว้แทนชั่วคราวนั้น  ถือว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์    แต่ถ้าทรัพย์นั้นอยู่ในการครอบครองของผู้กระทำผิดนั้น  ก็เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8545/2555

เหตุเกิดขึ้นระหว่างตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และเขตราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งสองถูกจับกุมในท้องที่อำเภอสิเกา จึงเป็นกรณีเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และฐานทำให้เสียทรัพย์กระทำในท้องที่ใด พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิเกา ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนท้องที่ที่จับจำเลยทั้งสองได้ย่อมเป็นผู้รับผิดชอบและมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1) และวรรคสอง (ก)

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมผู้เป็นนายจ้าง และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์คือน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วม โดยจำเลยทั้งสองเอาน้ำผสมลงในน้ำมันปาล์ม ทำให้ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดระหว่างเส้นทางตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน เป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยเข้าใจได้แล้วว่าเหตุลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางจากตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ถึงเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ท้องที่ใดท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางดังกล่าว ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ทำหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมจากอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ไปส่งแก่ลูกค้าที่เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยทั้งสองครอบครองน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมขณะเดินทางเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ร่วมไว้ชั่วคราวชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น การครอบครองน้ำมันปาล์มโดยแท้จริงยังอยู่ที่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยทั้งสองเอาน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมไป จึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาฎีกาที่ 1307/2554

ในขณะเกิดเหตุบริษัท ว. จำกัด และจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ครอบครองสินค้าปุ๋ยเคมีไว้แทนบริษัท ท. จำกัด (มหาชน) ดังนี้ เมื่อเกิดเหตุบริษัท ท. จำกัด (มหาชน) จึงเป็นผู้เสียหายด้วย และสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น เป็นลูกจ้างของบริษัท ว. จำกัด มีหน้าที่ควบคุมหรือบรรทุกสินค้าดังกล่าวไปส่งที่สถานีสินค้าของผู้เสียหาย การครอบครองของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการครอบครองแทนไว้ชั่วคราวชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น อำนาจการครอบครองสินค้าที่แท้จริงยังอยู่กับผู้เสียหายเมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับพวกเอาทรัพย์สินดังกล่าวไปโดยทุจริตจึงเป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3333/2545

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่าบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยจำกัด ผู้เสียหายซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แบบกระเป๋าหิ้ว ยี่ห้อคอมแพค จากบริษัทโอลิมเปียไทย จำกัด ในราคา 175,480 บาท ผู้เสียหายเก็บเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไว้ที่ห้องสมุดของฝ่ายเทคนิคเพื่อให้พนักงานฝ่ายเทคนิคใช้ในการให้บริการแก่ลูกค้าและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันหล่อลื่นและจารบี เมื่อเดือนสิงหาคม 2538 พนักงานฝ่ายเทคนิคและฝ่ายขายอุตสาหกรรมเกี่ยวกับน้ำมันเครื่องและน้ำมันเชื้อเพลิงไปจัดสัมมนาที่โรงแรมโฆษะจังหวัดขอนแก่น โดยนำเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องดังกล่าวไปด้วยหลังจากเสร็จการสัมมนามีการเก็บสิ่งของใส่ท้ายรถยนต์ของผู้เสียหายซึ่งนำไปใช้ในระหว่างสัมมนาและเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวถูกนำมาเก็บไว้ที่ท้ายกระโปรงรถยนต์ของผู้เสียหายคันที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายขายอุตสาหกรรมน้ำมันหล่อลื่นของผู้เสียหายเป็นผู้ขับ แล้วต่อมาจำเลยให้นายณัฐพล ชินอมรพงษ์ พี่จำเลยนำเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวนั้นไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอก มิใช่ความผิดฐานลักทรัพย์ เห็นว่า การที่มีผู้นำเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายไปเก็บไว้ที่ท้ายกระโปรงรถยนต์ของผู้เสียหายคันที่ให้จำเลยนำไปใช้ในการทำงานโดยจำเลยไม่ทราบมาก่อนดังที่จำเลยเบิกความกล่าวอ้างนั้น ผู้เสียหายมิได้สละการครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด เครื่องคอมพิวเตอร์ยังอยู่ในความยึดถือของผู้เสียหายและจำเลยควรรู้ว่าผู้เสียหายจะต้องติดตามเอาเครื่องคอมพิวเตอร์คืน การที่จำเลยยอมให้นายณัฐพลนำเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวจึงเป็นการที่จำเลยเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ไปจากการครอบครองของผู้เสียหายเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่เป็นความผิดฐานยักยอกดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาไม่เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1) วรรคแรก ซึ่งมิใช่คดีความผิดต่อส่วนตัวแล้วแม้ผู้เสียหายจะมีหนังสือมอบอำนาจให้นายวิชาญถอนคำร้องทุกข์ในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิดตามเอกสารหมาย จ.6 ก็ตาม ก็ไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแต่ประการใด ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาในประการต่อไปว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 3สิงหาคม 2538 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2538 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยลักเครื่องคอมพิวเตอร์แบบกระเป๋าหิ้ว ยี่ห้อคอมแพค1 เครื่องราคา 170,000 บาท ของผู้เสียหายไป แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณากลับปรากฏว่าจำเลยลักเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายไปหลังจากวันที่ 19 สิงหาคม 2538 ซึ่งมีการจัดสัมมนาที่จังหวัดขอนแก่นแล้ววันเวลาตามที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับวันเวลาดังที่กล่าวในฟ้อง ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีและจำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้องศาลต้องยกฟ้องโจทก์นั้นเห็นว่า การที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับเวลากระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจึงไม่เป็นเหตุให้ต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองเว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ จึงจะถือว่าข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันเป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญอันเป็นเหตุให้ต้องยกฟ้องแต่ตามที่นายสรศักดิ์ กังสัมฤทธิ์ พยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม2538 พนักงานฝ่ายเทคนิคและฝ่ายขายอุตสาหกรรมเกี่ยวกับน้ำมันเครื่องและน้ำมันเชื้อเพลิงของผู้เสียหายไปจัดสัมมนาที่โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น โดยนำเครื่องคอมพิวเตอร์ไปด้วยนั้นจำเลยก็นำสืบข้อเท็จจริงตรงตามที่นายสรศักดิ์เบิกความแสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้กรณีมิใช่เรื่องที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้เมื่อข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ศาลจึงลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งเป็นเงิน 10,000บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 4 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือน ต่อครั้งตลอดระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษไว้นั้น กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมงนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5423/2541

 

การที่จำเลยเป็นผู้เช่าที่ดินของผู้เสียหาย มีผลเพียง แต่ทำให้จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวในสภาพ อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เมื่อที่ดินถูกขุดดินที่ได้ย่อม เปลี่ยนสภาพเป็นสังหาริมทรัพย์ และผู้เสียหายไม่ได้มอบการ ครอบครองดินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ให้จำเลยครอบครองดินดังกล่าวจึงยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหาย การที่ จำเลยเอา ดินดังกล่าวไปขายโดยทุจริต เป็นการแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2527  จำเลยเช่าที่ดินของโจทก์ทำไร่ แล้วจำเลยขุดเอาดินจากที่ดินนั้นไปขายโดยทุจริต จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ผิดฐานยักยอก เพราะการเช่าที่ดินนั้น ผู้ให้เช่าให้เช่าทรัพย์สินในสภาพที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เมื่อที่ดินถูกขุดขึ้นมาแล้วย่อมเปลี่ยนสภาพเป็นสังหาริมทรัพย์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เช่า ดินที่ถูกขุดขึ้นมาจึงคงอยู่ในความครอบครองของผู้ให้เช่า (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3/2527)

 

นายเกรียงศักดิ์    นวลศรี  

น.บ   น.บ.ท   วิชาชีพว่าความ     ที่ปรึกษากฎหมาย   และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com

 

 

 

 

Facebook Comments