เมื่อศึกษาแล้วจะเห็นได้ว่าความผิดฐานบุกรุกนั้นกฎหมายมุ่งประสงค์ลงโทษเฉพาะบุคคลที่บุกรุกที่อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้นมิได้รวมไปถึงกรณีการบุกรุกสาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่อย่างใด
เห็นว่ากรณีดังกล่าวนั้นมีคำพิพากษาฎีกาที่วางหลักไว้เป็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 5616/2539 ความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 กฎหมายมุ่งประสงค์
ลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น ไม่ใช่บัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณ
สมบัติของแผ่นดินซึ่งมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ วรรคสอง
และแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้
ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดต่างกรรมกับ
ความผิดฐานบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐเพราะต่างมีสภาพและลักษณะ
ของการกระทำที่แตกต่างกัน สามารถแยกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้
การยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับและการกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ.มาตรา 29,
30 เป็นวิธีที่จะกระทำเพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับเป็นการบังคับคดีไม่จำที่ศาลจะต้อง
กล่าวไว้ในคำพิพากษา
คำพิพากษาฎีกาที่ 4316/2550 คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่สาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐบริเวณชายแดนประเทศไทยและประเทศมาเลเซียด้วยการเข้าไปปลูกบ้านพักอาศัย กว้างประมาณ 7 เมตร ยาว 9 เมตร ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองปลูกสร้างบ้านพักอาศัยกว้าง 20 เมตร ยาว 7 เมตร ในที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณแนวพรมแดนประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐ วันเวลาที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้เป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยกระทำความผิดคดีก่อนและจำนวนเนื้อที่ดินที่จำเลยบุกรุกก็มีจำนวนแตกต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันและเป็นที่ดินของรัฐจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง แต่ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งประสงค์ลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
นายเกรียงศักดิ์ นวลศรี
น.บ น.บ.ท วิชาชีพว่าความ ที่ปรึกษากฎหมาย และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com