Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ กรณี ” หลอกเอาเอกสารสัญญาจากผู้อื่นไปนั้นผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ อย่างไร ” ?

กรณี ” หลอกเอาเอกสารสัญญาจากผู้อื่นไปนั้นผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ อย่างไร ” ?

5479

d13-19

 

กรณี ” หลอกเอาเอกสารสัญญาจากผู้อื่นไปนั้นผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ อย่างไร ” ?

 

ผมมีคำตอบให้ตามตัวอย่างดังต่อไปนี้    ครับ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4046/2536

 

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยหลอกลวงเอาเอกสารสิทธิของโจทก์ไปจากภริยาโจทก์โดยทุจริต แต่จำเลยไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เพราะการเอาไปไม่ใช่การถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ โจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341การที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้หลอกลวงเอาเอกสารสิทธิของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คดีมีปัญหาเฉพาะข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนกสารสัญญาแม้เป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียวก็ถือว่าเป็นทรัพย์จำเลยหลอกลวงเอาเอกสารสัญญาดังกล่าวไปจากภริยาโจทก์โดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341


โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จัดทำสัญญาระบุว่าผู้มีชื่อเป็นหนี้จำเลย 400,000 บาท โดยให้จำเลยยึดถือไว้หนึ่งฉบับ อีกฉบับผู้มีชื่อฝากให้โจทก์ยึดถือไว้ จำเลยติดต่อโจทก์ให้เจรจากับผู้มีชื่อเพื่อโอนที่ดินตีราคาชำระหนี้ให้แก่จำเลย หากติดต่อสำเร็จจะจ่ายค่านายหน้าให้โจทก์ 40,000 บาท และได้ติดต่อผู้มีชื่อเพื่อให้โอนที่ดินชำระหนี้ให้แก่จำเลย จนผู้มีชื่อตกลงด้วย และทำนิติกรรมสำเร็จไปแล้ว จำเลยโดยทุจริตหลอกลวงภริยาโจทก์ ว่าโจทก์ใช้ให้จำเลยมาเอาสัญญาฉบับที่ผู้มีชื่อฝากไว้เพื่อจ่ายค่านายหน้าภริยาโจทก์หลงเชื่อจึงมอบสัญญาดังกล่าวให้จำเลย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และให้ชำระค่านายหน้า 40,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องเฉพาะในคดีส่วนอาญา

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุกจำเลย 6 เดือน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยได้หลอกลวงเอาเอกสารสิทธิของโจทก์ไปจากภริยาของโจทก์โดยทุจริตแต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 เพราะการที่จะเป็นความผิดต้องเป็นการถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ไม่ได้รวมถึงการเอาไปด้วย โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนจำเลยมิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ว่าตนมิได้กระทำผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมาย ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าเอกสารสิทธิเป็นทรัพย์อย่างหนึ่ง การเอาไปจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง จำเลยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้หลอกลวงเอาเอกสารสิทธิของโจทก์ และการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เห็นว่า จำเลยมิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้หลอกลวงเอาเอกสารสิทธิของโจทก์นั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยตกลงให้ค่านายหน้าโจทก์ 40,000 บาทและได้บันทึกข้อตกลงไว้ในสัญญาฉบับที่อยู่กับโจทก์ ต่อมาจำเลยได้หลอกลวงเอาสัญญาฉบับดังกล่าวไปจากนางอำนวยภริยาโจทก์โดยทุจริตทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้เอกสารดังกล่าวในการดำเนินคดีแก่จำเลยการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 นอกจากจะเป็นการหลอกลวงผู้อื่นให้ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิแล้ว ยังบัญญัติว่า โดยการหลอกลวงนั้นทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามด้วย ทรัพย์สินนั้นหมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ และทรัพย์หมายความว่าวัตถุมีรูปร่างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137, 138 ดังนั้นเอกสารสัญญาแม้จะเป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียวก็ถือว่าเป็นทรัพย์เมื่อจำเลยหลอกลวงเอาเอกสารสัญญาของโจทก์ไป จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 แล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่สมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวจึงให้รอการลงโทษและให้ลงโทษปรับ

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับบังคับตาม มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

นายเกรียงศักดิ์    นวลศรี

น.บ  น.บ.ท  วิชาชีพว่าความ   ที่ปรึกษากฎหมาย    และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com

 

 

Facebook Comments