Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ กรณี ” การได้ทางจำเป็นมีความหมายรวมถึงการวางท่อน้ำ สายไฟไฟ้ ท่อประปา สายโทรศัพท์ ...

กรณี ” การได้ทางจำเป็นมีความหมายรวมถึงการวางท่อน้ำ สายไฟไฟ้ ท่อประปา สายโทรศัพท์ หรือไม่ อย่างไร ” ?

6960

 

 

 

15-03-2012001

 

กรณี ” การได้ทางจำเป็นมีความหมายรวมถึงการวางท่อน้ำ สายไฟไฟ้ ท่อประปา สายโทรศัพท์ หรือไม่ อย่างไร ” ?

 

คำตอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7775/2552

ป.พ.พ. มาตรา 1349, 1350, 1352

ป.วิ.พ. มาตรา 55

 

การวางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ท่อประปา สายโทรศัพท์ หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันในที่ดินติดต่อ หาใช่เป็นเรื่องทางจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 และ 1350 ไม่ แต่เป็นเรื่องที่เจ้าของที่ดินจำต้องยอมให้เจ้าของที่ดินติดต่อวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกับผ่านที่ดินของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1352 การใช้สิทธิวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ในที่ดินของผู้อื่น ผู้ที่จะวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ จะต้องยอมจ่ายค่าทดแทนตามสมควรให้แก่เจ้าของที่ดินเสียก่อน หากผู้ที่จะวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ไม่จ่ายค่าทดแทนตามสมควรแล้ว เจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมให้วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ในที่ดินของตนได้ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้วางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ที่จะต้องบอกกล่าวเสนอจำนวนค่าทดแทนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทราบก่อน มิฉะนั้นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยยอมให้โจทก์วางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ในที่ดินของจำเลย เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสนอค่าทดแทนแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยยินยอมให้โจทก์วางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ในที่ดินของจำเลยได้

โจทก์มีสิทธิใช้ทางเดินและทางรถยนต์ในที่ดินเป็นทางจำเป็นด้วยอำนาจแห่งกฎหมาย แม้มีการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวไปเป็นของผู้อื่น โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินดังกล่าวอยู่นั่นเอง จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิทางจำเป็น

 

________________________________

 

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ ไฟฟา ประปา โทรศัพท์ ท่อระบายน้ำ และสาธารณูปโภคอื่นๆ โดยให้จำเลยไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นในเรื่องดังกล่าว มีความกว้าง 4 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร ตลอดแนวเขตที่ดินของโจทก์ออกไปสู่ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสามแยกริมคลองประปาไปคลองสะเทิน หมู่ที่ 1 ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 เป็นทางจำเป็นเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ท่อระบายน้ำและสาธารณูปโภคอื่นๆ โดยให้จำเลยไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นในเรื่องดังกล่าว มีความกว้าง 4 เมตร และยาวประมาณ 200 เมตร ตลอดแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 62061 ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรีของโจทก์ออกไปสู่ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสามแยกริมคลองประปาไปคลองสะเทินหมู่ที่ 1 ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ขอให้เป็นทางจำเป็นเรื่องไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์และสาธารณูปโภคอื่น และในส่วนที่ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนทางจำเป็นต่อเจ้าพนักงาน หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3812 ตำบลบางใหญ่ (บ้านใหญ่) อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาปี 2543 จำเลยจดทะเบียนให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมโดยมีค่าตอบแทน ครั้นวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3812 ออกเป็นแปลงย่อยหลายแปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 62060,62061, 62062 และ 62064 ตำบลบางใหญ่ (บ้านใหญ่) อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี โดยคงเหลือโฉนดเลขที่ 3812 อยู่และจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 62061 ให้โจทก์ในวันเดียวกัน ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ส่วนที่ดินแปลงอื่นที่แบ่งแยกยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยจำเลยใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 62060 ตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นทางเดินและทางรถยนต์เพื่อออกสู่ถนนสาธารณะสามแยกริมคลองประปาไปคลองสะเทิน หมู่ที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 62060 ของจำเลยอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 62061 ของโจทก์ จากการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3812 ของจำเลย ทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 62061 ของโจทก์ถูกที่ดินที่แบ่งแยกแปลงอื่นๆ ปิดล้อมจนไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.4

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ขอให้เป็นทางจำเป็นเรื่องไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และสาธารณูปโภคอื่นๆ ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 มิใช่โจทก์ได้ทางจำเป็นตามมาตรา 1349 โดยผลของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 โจทก์ย่อมได้ทางจำเป็นเรื่องไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ท่อระบายน้ำ และสาธารณูปโภคอื่นๆ ด้วยนั้น    เห็นว่า การวางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ท่อประปา สายโทรศัพท์ หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันในที่ดินติดต่อ หาใช่เป็นเรื่องทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 และ 1350 ไม่ แต่เป็นเรื่องที่เจ้าของที่ดินจำต้องยอมให้เจ้าของที่ดินติดต่อวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินของตนตามประมวลกฎหมายแห่งและพาณิชย์ มาตรา 1352 ซึ่งบัญญัติว่า …ถ้าเจ้าของที่ดินได้รับค่าทดแทนตามสมควรแล้ว ต้องยอมให้ผู้อื่นวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้าหรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินของตนเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินติดต่อ ซึ่งถ้าไม่ยอมให้ผ่านก็ไม่มีทางจะวางได้ หรือถ้าจะวางได้ก็เปลืองเงินมากเกินควร… ตามบทบัญญัติดังกล่าวการใช้สิทธิวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ในที่ดินของผู้อื่น ผู้ที่จะวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ จะต้องยอมจ่ายค่าทดแทนตามสมควรให้แก่เจ้าของที่ดินเสียก่อน หากผู้ที่จะวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ไม่จ่ายค่าทดแทนตามสมควรแล้ว เจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมให้วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ในที่ดินของตนได้ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ที่จะวางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ที่จะต้องบอกกล่าวเสนอจำนวณค่าทดแทนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทราบก่อน มิฉะนั้นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยยอมให้โจทก์วางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ในที่ดินของจำเลยเมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสนอค่าทดแทนแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยยินยอมให้โจทก์วางท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ในที่ดินของจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำขอข้อนี้ของโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องจดทะเบียนทางจำเป็นตามคำขอของโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า แม้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 แต่บุคคลภายนอกไม่อาจทราบได้หากไม่จดทะเบียนไว้ในโฉนดที่ดินเลขที่ 62060 จะทำให้ผู้รับโอนที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า โจทก์มีสิทธิใช้ทางเดินและทางรถยนต์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 62060 เป็นทางจำเป็นด้วยอำนาจแห่งกฎหมายแม้มีการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวไปเป็นของผู้อื่น โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินดังกล่าวอยู่นั่นเอง จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิทางจำเป็นตามที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำขอของโจทก์ในข้อนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

นายเกรียงศักดิ์    นวลศรี

น.บ  น.บ.ท  วิชาชีพว่าความ   ที่ปรึกษากฎหมาย   และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com

 

Facebook Comments