Home คดีครอบครัว เมื่อภริยาฟ้องหย่าขอแบ่งสินสมรส แต่สามีแอบขายสินสมรสหมด ทำอย่างไรดี?

เมื่อภริยาฟ้องหย่าขอแบ่งสินสมรส แต่สามีแอบขายสินสมรสหมด ทำอย่างไรดี?

5225

แต่งงานกันแล้ว ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส ก็ถือว่าเป็นสินสมรส หากต้องการแบ่งสินสมรสล่ะ จะทำไง ตอบได้เลยต้องฟ้องหย่าก่อนค่ะแล้วจึงจะแบ่งสินสมรสได้ ไม่หย่าฟ้องขอแบ่งอย่างเดียวไม่ได้นะ แต่ถ้าสามีตัวดีโอนขายสินสมรสไปหมดแล้วล่ะ จะทำไงดี?

คำถาม : สามีภริยาสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ระหว่างสมรสซื้อรถมาอยู่หนึ่งคัน ต่อมาสามีโอนรถที่เช่าซื้อให้คนอื่นโดยที่ภริยาไม่ทราบเรื่อง หากภายหลังทั้งสองหย่ากัน ภริยาจะยังเรียกรถคันดังกล่าวคืนได้หรือไม่
image

คำตอบ: การที่สามีภริยาซื้อรถยนต์มาในระหว่างที่สมรส ถือได้ว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นสินสมรส สามีภริยามีสิทธิคนละครึ่ง ดังนั้นแม้ว่าสามีจะแอบโอนรถที่เช่าซื้ออยู่ไปให้บุคคลภายนอกแต่ถ้าภริยาไม่ยินยอม สามีจะอ้างว่าไม่มีสินสมรสดังกล่าวไม่ได้ ย่อมถือได้ว่ารถยนต์คันดังกล่าวยังมีอยู่ สามีต้องแบ่งรถคันดังกล่าวให้ภริยาครึ่งคัน หรือไม่ก็ใช้ราคารถยนต์ครึ่งคันโดยสามีใช้เงินจำนวนดังกล่าวหมดไปแล้ว ไม่สามารถหามาคคืนภริยาได้ ก็ต้องนำเงินจากสินส่วนตัวของตนมาชดใช้แทน

……………………………………………………………..

เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่6244/2550

บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1522 กำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้เป็นกรณีเฉพาะเมื่อศาลพิพากษาให้หย่าหรือในกรณีที่สัญญาหย่ามิได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ ดังนั้น แม้จำเลยมิได้ฟ้องแย้งขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง ศาลชั้นต้นก็กำหนดให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเป็นรายเดือนจนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะได้ ปัญหาการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรดังกล่าว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นพิพากษาเป็นประโยชน์แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองของโจทก์จำเลย
ในการเช่าซื้อรถยนต์พิพาท บิดาโจทก์เป็นผู้วางเงินจองให้ 10,000 บาท และบิดามารดาโจทก์ออกเงินดาวน์ให้อีกส่วนหนึ่ง รถยนต์คันดังกล่าวโจทก์จำเลยได้ออกเงินบางส่วนเป็นค่ารถยนต์ด้วย ทั้งเงินที่บิดามารดาโจทก์ช่วยออกเป็นค่ารถยนต์ ภายหลังก็ไม่ปรากฏว่าบิดามารดาโจทก์ได้ทวงถามให้โจทก์จำเลยชำระหนี้ส่วนนี้แต่อย่างไร แสดงว่าบิดามารดาโจทก์มีเจตนาที่จะออกเงินค่ารถยนต์ส่วนนี้ให้แก่โจทก์จำเลย รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยได้มาในระหว่างสมรส เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่ ว. ในระหว่างที่โจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากัน โดยจำเลยไม่ทราบเรื่องจึงเป็นการจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์อันเป็นสินสมรสไปโดยมีเจตนาทำให้จำเลยได้รับความเสียหายซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1534 ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533 โจทก์ต้องแบ่งสินสมรสดังกล่าวให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง
แม้การกู้เงินของจำเลยทั้งสองครั้งจะเป็นการกู้หลังจากจำเลยแยกมาอยู่กับบิดามารดาจำเลยแล้ว แต่จำเลยได้นำบุตรไปเลี้ยงดูด้วย จึงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โจทก์เป็นบิดาต้องมีส่วนอุปการะเลี้ยงดูบุตรเช่นกัน จำเลยนำสืบว่าจำเลยกู้เงินในการกู้ปี 2543 จำเลยได้ระบุในวัตถุประสงค์ขอกู้ว่า ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ และมีหลักฐานใบสั่งซื้อสินค้า ส่วนการกู้ในปี 2546 เป็นการกู้เงินเพื่อเหตุฉุกเฉิน ฟังได้ว่า จำเลยกู้เงินสองครั้งดังกล่าว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของบุตรอันเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในครอบครัวและเป็นหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในระหว่างสมรสจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จำเลยต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490

By: MissLadyLawyer (ทนายชีวารัตน์)

มีปัญหาคดีครอบครัว คดีมรดก ฟ้องรับรองบุตร ฟ้องหย่าแบ่งสินสมรส เรียกค่าเลี้ยงดู พินัยกรรม ปรึกษา ทนายผู้หญิง เข้าใจ รับฟังปัญหา ให้คำปรึกษา เป็นกันเอง โทร 093-8791914 LINE ID; chompoo1103
……………………………………………………………..
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ปพพ มาตรา 1534 สินสมรสที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายไปเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวก็ดี จำหน่ายไปโดยเจตนาทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียหายก็ดี จำหน่ายไปโดยมิได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีที่กฎหมายบังคับว่าการจำหน่ายนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งด้วยก็ดี จงใจทำร้ายสูญหายไปด้วยก็ดี ให้ถือว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533 และถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้รับส่วนแบ่งสินสมรสไม่ครบตามจำนวนที่ควรจะได้ ให้คู่สมรสฝ่ายที่ได้จำหน่ายหรือจงใจทำลายสินสมรสนั้นชดใช้จากสินสมรสส่วนของตนหรือสินส่วนตัว

ปพพ มาตรา 1474(1) สินสมรสได้แก่ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

…………………………………………………………..

Facebook Comments