..หลักกฎหมายสำหรับคนเล่นปืน
รวมหลักกฎหมายตามคำพิพากษาฎีกาที่คนเล่นปืนควรรู้
การซื้อการครอบครอบอาวุธปืนและเครื่องกระสุน
– คำพิพากษาฎีกาที่ 5139/2545
การที่นายทะเบียนอาวุธปืนออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.3) ให้แก่ผู้ขออนุญาต ถือได้ว่านายทะเบียนอาวุธปืนได้อนุญาตให้ผู้ขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนได้แล้ว ส่วนการไปซื้อหรือรับโอนอาวุธปืนตามแบบ ป.3 ดังกล่าว แล้วนำไปดำเนินการจดทะเบียนออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) เป็นขั้นตอนต่อเนื่องมาเพื่อควบคุมอาวุธปืนในราชอาณาจักรให้รู้ว่าอาวุธปืนแต่ละกระบอกอยู่ในครอบครองของผู้ใดเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงว่าผู้ขออนุญาตเพิ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเมื่อนายทะเบียนอาวุธปืนออกใบอนุญาตแบบ ป.4 ให้
ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ มาตรา 23 (2) กำหนดให้แบบ ป.3 มีอายุ 6 เดือน นับแต่วันออก การที่จำเลยซื้อและครอบครองอาวุธปืนตามแบบ ป.3 แล้วดำเนินการขอจดทะเบียนรับใบอนุญาตแบบ ป.4 ภายในกำหนดเวลา จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
– คำพิพากษาฎีกาที่ 8350/2547
ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ มาตรา 8 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดมีเครื่องกระสุนปืน ซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน ให้ออกให้แก่บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน หรือในการกีฬา หรือยิงสัตว์ และวรรคสอง บัญญัติว่า ใบอนุญาตนั้นให้ออกสำหรับอาวุธปืนแต่ละกระบอก แต่ไม่ได้บัญญัติว่าให้ออกใบอนุญาตโดยเฉพาะสำหรับให้มีเครื่องกระสุนปืนด้วย แสดงว่าเมื่อมีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้ว การมีกระสุนปืนสำหรับอาวุธปืนนั้น ไม่ต้องมีใบอนุญาตพิเศษ การที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเป็นการอนุญาตให้มีและใช้กระสุนปืนไปในตัว ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนขนาด .22 แล้ว การที่จำเลยมีกระสุนปืนขนาด .22 เพื่อใช้กับอาวุธปืนดังกล่าว จำเลยย่อมไม่มีความผิด แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองเกินกว่าที่ได้รับใบอนุญาตให้มีไว้สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาต และจำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้
การพกพา
– คำพิพากษาฎีกาที่ 3945/2540
เจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจค้นและพบอาวุธปืนพร้อมกระสุนปืนของกลางในกระเป๋าเอกสารซึ่งปิดอยู่และวางอยู่ที่เบาะหลังรถยนต์ซึ่งจำเลยเป็นผู้ขับเมื่อปรากฏว่ากระเป๋าเอกสารที่อาวุธปืนของกลางบรรจุอยู่ภายในนั้นโดยสภาพมีกุญแจล็อกถึง 2 ด้าน ทั้งวางอยู่ที่เบาะด้านหลัง การจะหยิบฉวยอาวุธปืนมาใช้ทันทีทันใดนั้นย่อมเป็นได้ยาก ทั้งจำเลยมีเจตนาเพียงขนย้ายสิ่งของ จึงมิอาจถือได้ว่าเป็นการพาติดตัว
– คำพิพากษาฎีกาที่ 856/2505
คำว่าเครื่องหรือสิ่งสำหรับอัด ทำ หรือใช้ประกอบกระสุนอันเป็นเครื่องกระสุนปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ.2490 มาตรา 4(2) นั้น คงมีแต่เฉพาะดินส่งกระสุนเท่านั้นที่บัญญัติไว้โดยตรงจึงไม่หมายถึงแต่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใดของกระสุนปืน เช่น หัวกระสุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เหลือมาจากการใช้กระสุนปืนไปแล้วเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยมีหัวกระสุนไว้จึงไม่เป็นความผิด
– คำพิพากษาฎีกาที่ 267/2506 (เอาปลอกกระสุนไปสวมไม้ตะพด…..)
จำเลยมีปลอกกระสุนปืนอยู่เพียง 2 ปลอก และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีไว้เพื่ออัดหรือใช้ประกอบเครื่องกระสุนปืน กลับได้ความว่ามีไว้ใช้สวมปลายไม้ตะพด ปลอกกระสุนปืนดังกล่าวจึงไม่มีสภาพเป็นเครื่องหรือสิ่งสำหรับอัดหรือทำหรือใช้ประกอบเครื่องกระสุนปืนตามบทวิเคราะห์ศัพท์มาตรา 3 (2) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 จำเลยไม่มีความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนโดยมิได้รับอนุญาต
พกปืนไว้เฝ้าบ้าน
– คำพิพากษาฎีกาที่ 3606/2525
จำเลยเช่าห้องอยู่อาศัยในแฟลตที่เกิดเหตุ แฟลตจึงเป็นเคหสถานซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลย และดาดฟ้าของแฟลตเป็นบริเวณของแฟลตซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย การที่จำเลยพกพาอาวุธปืนอยู่บนดาดฟ้าของแฟลตจึงเป็นการพกพาอาวุธปืนในบริเวณที่อยู่อาศัยของตน ไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 (ที่แก้ไขแล้ว) มาตรา 8 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371
– คำพิพากษาฎีกาที่ 8943/2542
บ้านเป็นเคหสถานซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและบริเวณเพิงหน้าบ้านเป็นบริเวณของบ้านซึ่งใช้เป็นร้านค้าและที่อยู่อาศัยด้วย จำเลยพาอาวุธปืนติดตัวอยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัยของตนจึงไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้าน
การพกปืนในยามจำเป็น
– คำพิพากษาฎีกาที่ 3027/2526
จำเลยเก็บปืนและเงิน 70,000 บาท ไว้ในลิ้นชักรถ เมื่อจำเลยนั่งรถไปด้วย ถือได้ว่าจำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไป และการที่จำเลยขับรถไปส่งผู้เสียหายกับพวกแล้วพากันไปนั่งดื่มสุราและเบียร์ โดยทิ้งเงินไว้ในรถซึ่งจอดอยู่ห่างจากจำเลยประมาณ 5 – 6 วา แสดงว่าจำเลยมิได้ห่วงใยเกี่ยวกับความปลอดภัยของทรัพย์สิน การที่จำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปจึงถือไม่ได้ว่ามีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์
– คำพิพากษาฎีกาที่ 417/2528
การที่จำเลยที่ 1 ถือปืนกลับบ้านพร้อมจำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของที่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง และการพาอาวุธปืนนั้นไปเป็นการป้องกันไม่ให้จำเลยที่ 2 นำไปใช้กระทำผิดและนำกลับบ้านเท่านั้น มิได้มีเจตนาพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 8 ทวิ
– คำพิพากษาฎีกาที่ 3729/2528
การกระทำความผิดฐานพาอาวุธปืนนั้นต้องได้ความว่า จำเลยได้นำอาวุธปืนเคลื่อนที่ไปในถนนหรือทางสาธารณะหรือนำเข้าไปในหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วยการกระทำที่เป็นสาระสำคัญคือการนำอาวุธปืนเคลื่อนที่ไปในขณะกระทำผิด หากปรากฏว่าจำเลยเพียงแต่หยิบเอาอาวุธปืนสั้นของเพื่อนที่วางไว้บนโต๊ะหน้าร้านขายอาหารริมถนนมาเหน็บไว้ที่เอว และคงนั่งอยู่ที่โต๊ะไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหน ดังนี้ ไม่เป็นความผิดฐานพาอาวุธปืน
– คำพิพากษาฎีกาที่ 1053/2529
จำเลยพาอาวุธปืนไปที่หน้าโรงงานของบริษัทที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานให้มีอาวุธปืนติดตัว เนื่องจาก นาง ก. พานางสาว น. ไปพบบิดามารดาของจำเลยที่บ้านจำเลยเพื่อเจรจาในการที่จะสู่ขอนางสาว น. เป็นภรรยาจำเลย นาง ก. และนางสาว น. จะกลับบ้าน เป็นเวลาดึกมากแล้ว จำเลยจึงนั่งรถไปส่งบุคคลทั้งสองที่บริษัท การที่จำเลยพาอาวุธปืนไปดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ เพราะไม่แน่ว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นแต่เป็นกรณีที่สมควรรอการลงโทษจำเลย
รับจำนำปืนต้องระวัง
– คำพิพากษาฎีกาที่ 7803/2543
ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่” การที่นาย ส. จำนำอาวุธปืนไว้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 รับมอบอาวุธปืนไว้ในครอบครองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ให้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 72 วรรคสาม
พกปืนเฝ้าเรือกสวนไร่นา
– คำพิพากษาฎีกาที่ 7356/2546
การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานพาอาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง 72 ทวิ วรรคสอง จะต้องเป็นการพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว และไม่ใช่กรณีที่ต้องมีอาวุธปืนติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปที่ขนำนากุ้งไม่มีเลขที่ หมู่ที่ 3 ตำบลปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ทั้งไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์อันจะต้องพาอาวุธปืนติดตัวไป ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏเลยว่าจำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ ทั้งไม่ได้ความว่าขนำนากุ้งดังกล่าวเป็นเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะแต่อย่างใด เพียงการพาอาวุธติดตัวไปที่ขนำนากุ้งหาเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นไม่ ฟ้องเช่นนี้ย่อมเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) และลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ ไม่ได้ ปัญหาว่าฟ้องคดีอาญาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกา มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา
– คำพิพากษาฎีกาที่ 200/2518
พิพากษาว่า จำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนออโตเมติก ขนาด 11 มม.จากนายทะเบียนท้องที่ตามใบอนุญาตที่ 1876/2515 กระสุนปืนและปลอกกระสุนปืนของกลางขนาด 11 มม. (จำนวน 128 นัด กับ 30 ปลอก ) ใช้กับอาวุธปืนของจำเลยได้ดังนี้ การมีกระสุนปืนรวมทั้งปลอกกระสุนปืนที่ใช้ยิงแล้ว หากมีไว้สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้โดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมไม่เป็นความผิดตามนัยแห่งมาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงถือได้ว่ากระสุนปืนกับปลอกกระสุนปืน จำเลยมีไว้สำหรับใช้กับอาวุธปืนของจำเลย ที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ เป็นการที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้กระสุนปืนไปในตัวโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตพิเศษ จำเลยจึงไม่มีความผิด
– คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2494
เมื่อมีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้ว การมีกระสุนปืนสำหรับอาวุธปืนนั้น ไม่ต้องมีใบอนุญาตพิเศษอีกเพราะการที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน เป็นการอนุญาตให้มีและใช้กระสุนปืนไปในตัว