กรณี ” มีเครื่องกระสุนปืนเท่าไรก็ได้ เมื่อได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้ว “
กรณีดังกล่าวผมมีคำตอบให้ทุกท่าน ซึ่งปรากฎตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8350/2547
พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8, 9, 72
ป.วิ.อ. มาตรา 185, 195, 225
ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ มาตรา 8 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดมีเครื่องกระสุนปืน ซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน ให้ออกให้แก่บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน หรือในการกีฬา หรือยิงสัตว์ และวรรคสอง บัญญัติว่า ใบอนุญาตนั้นให้ออกสำหรับอาวุธปืนแต่ละกระบอก แต่ไม่ได้บัญญัติว่าให้ออกใบอนุญาตโดยเฉพาะสำหรับให้มีเครื่องกระสุนปืนด้วย แสดงว่าเมื่อมีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้ว การมีกระสุนปืนสำหรับอาวุธปืนนั้น ไม่ต้องมีใบอนุญาตพิเศษ การที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเป็นการอนุญาตให้มีและใช้กระสุนปืนไปในตัว ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนขนาด 22 มม. แล้ว การที่จำเลยมีกระสุนปืนขนาด 22 มม. เพื่อใช้กับอาวุธปืนดังกล่าว จำเลยย่อมไม่มีความผิด แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองเกินกว่าที่ได้รับใบอนุญาตให้มีไว้สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาต และจำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 , 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 7/2547)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7 , 8 , 8 ทวิ , 72 , 72 ทวิ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 , 7 , 8 , 15 , 66 , 102 ป.อ. มาตรา 32 , 33 , 91 , 371 ริบเมทแอมเฟตามีนและกระสุนปืนขนาด .22 จำนวน 55 นัด ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7 , 72 วรรคสอง , 8 ทวิ วรรคหนึ่ง , 72 ทวิ วรรคสอง ป.อ. มาตรา 371 พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง , 66 วรรคหนึ่ง , 102 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานพาอาวุธปืน (ที่ถูก เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท) ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน และฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุกตลอดชีวิต ความผิดฐานพาอาวุธปืนและมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกฐานพาอาวุธปืน 3 เดือน และฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 3 เดือน ส่วนความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว แต่ก็นับว่ามีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 หนึ่งในสาม คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 33 ปี 10 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีน รถยนต์กระบะ และเครื่องกระสุนปืน จำนวน 55 นัด ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน แต่ไม่ริบรถยนต์กระบะของกลาง โดยให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองเกินกว่าที่ได้รับใบอนุญาตให้มีไว้สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้องนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดมีเครื่องกระสุนปืน ซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติถึงใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน ให้ออกให้แก่บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน หรือในการกีฬา หรือยิงสัตว์ และวรรคสอง บัญญัติว่า ใบอนุญาตนั้นให้ออกสำหรับอาวุธปืนแต่ละกระบอก แต่ไม่ได้บัญญัติว่าให้ออกใบอนุญาตโดยเฉพาะสำหรับให้มีเครื่องกระสุนปืนด้วย แสดงว่าเมื่อมีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้ว การมีกระสุนปืนสำหรับอาวุธปืนนั้น ไม่ต้องมีใบอนุญาตพิเศษ การที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเป็นการอนุญาตให้มีและใช้กระสุนปืนไปในตัว ดังนั้น เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนแล้ว การที่จำเลยมีกระสุนปืนสำหรับใช้กับอาวุธปืนนั้น จึงไม่เป็นความผิด แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยกระทำความผิด และจำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 , 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแก่จำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี เมื่อรวมกับโทษตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ แล้ว คงจำคุก 25 ปี 3 เดือน ให้ยกฟ้องข้อหามีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองเกินกว่าที่ได้รับใบอนุญาตให้มีไว้สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาต ไม่ริบเครื่องกระสุนปืนของกลาง และให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6.
ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า การที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเป็นการอนุญาตให้มีและใช้กระสุนปืนไปในตัว แต่กระนั้นต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนสำหรับปืนนั้นเท่านั้น นะครับ
นายเกรียงศักดิ์ นวลศรี
น.บ น.บ.ท วิชาชีพว่าความ ที่ปรึกษากฎหมาย และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com