Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ขับไม่มีใบขับขี่ แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น ประกันรับผิดชอบอย่างไร….

ขับไม่มีใบขับขี่ แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น ประกันรับผิดชอบอย่างไร….

6419

toon_car_render1111111111

 

 

ขับไม่มีใบขับขี่ แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น ประกันรับผิดชอบอย่างไร….

 

การที่รถเราถูกชนเป็นเรื่องการละเมิดที่ทำให้รถยนต์เราเสียหาย   เมื่อ เจ้าของรถยนต์หรือผู้ครอบครอบรถยนต์เป็นผู้เสียหายก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากผู้ละเมิด (คันที่ชนเรา) ได้นะครับ  โดยไม่ต้องมาคำนึงถึงเรื่องผู้ขับขี่มีใบอนุญาตขับขี่หรือไม่  เพราะ ความผิดฐานขับรถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่ รัฐเป็นผู้เสียหายไม่ใช่คู่กรณีครับ  จึงมีปัญหาว่าเมื่อกรณีเป็นอย่างนี้แล้วประกันภัยยังจะคุ้มครองยังไงบ้าง   มาตามดูกันครับผม

       หากเราเป็นฝ่ายถูกแต่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ไม่ว่ามีประกันหรือไม่ ประกันภัยของคู่กรณีต้องรับผิดชอบค่าซ่อมรถของเราเสมอนะครับ

       หากเราเป็นฝ่ายผิด ถ้าเรามีประกันภัยไม่ว่าจะชั้น 1,2 บวก หรือ 3 บวก ซี่งบริษัทประกันรับผิดชอบความเสียหายรถเราอยู่แล้ว แต่หากขณะเกิดอุบัติเหตุเราไม่มีใบขับขี่ บริษัทประกันจะคุ้มครองรถเราและรถคู่กรณีหรือไม่  

มาดูกัน

1.       เราไม่มีใบขับขี่เลย คือ ไม่เคยสอบได้ใบขับขี่ กรณีนี้เป็นข้อยกเว้นความรับผิดของบริษัทประกันภัยครับ แต่ยกเว้นความรับผิดเฉพาะความเสียหายของตัวรถคันที่ทำประกันภัยเท่านั้นครับ ส่วนความเสียหายของบุคคลภายนอกไม่ว่าจะเป็นความเสียหายในชีวิต   ร่างกาย   หรือทรัพย์สิน    แม้ผู้ขับขี่รถคันที่ทำประกันในขณะเกิดเหตุดังกล่าวจะไม่มีใบขับขี่ก็ตาม  แต่กระนั้นบริษัทประกันภัยที่รับประกันรถคันดังกล่าว  ยังคงต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกตามกรมธรรม์

2.       เรามีใบขับขี่แต่ไม่ได้พกขณะขับขี่ กรณีนี้ บริษัทประกันคุ้มครองทั้งรถเราและคู่กรณี

3.       เราพกใบขับขี่ แต่ใบขับขี่หมดอายุ กรณีนี้ บริษัทประกันคุ้มครองทั้งรถเราและคู่กรณี

4.       เราไม่พกใบขับขี่ เพราะใบขับขี่ถูกยึด กรณีนี้บริษัทประกันคุ้มครองทั้งรถเราและคู่กรณี

 

เงื่อนไขใบอนุญาตขับขี่ปรากฎอยู่ในเงื่อนไขกรมธรรม์หมวดการคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ ข้อ 9.4 การขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่ใด ๆ หรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฏหมาย (   ในคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์    อธิบายคำว่าถูกตัดสิทธิตามกฎหมายของผู้ได้รับอนุญาตขับขี่นั้นต้องถึงขนาดที่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาของคำสั่งที่ตัดสิทธิการใช้ใบอนุญาตขับขี่แล้ว ผู้ขับขี่นั้น ต้องรับการอบรมหรือการทดสอบเพื่อขอใบอนุญาตหรือไม่  ถ้าไม่ต้องทำก็ไม่ถือว่าถูกตัดสิทธิแต่อย่างใด โดยในคู่มือตีความให้ถือว่าการถูกตัด สิทธิในการใช้ใบอนุญาตขับขี่ต้องถึงขนาดถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่    )

 

ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า   ประกันจะไม่คุ้มครองการขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่ใด ๆ หรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมายเท่านั้น

 

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อท่านขับขี่รถโดยไม่มีใบขับขี่ก้ต้องถือว่าผิดกฎหมาย   นะครับ

คือ

1.  เราไม่มีใบขับขี่เลย คือม่เคยสอบได้ใบขับขี่ เราก็จะโดนโทษปรับจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.   เรามีใบขับขี่แต่ไม่ได้พกขณะขับขี่ เราก็จะมีความผิดข้อหาขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับรถที่จะแสดงได้ทันที มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

3. เราพกใบขับขี่ แต่ใบขับขี่หมดอายุ เราก็จะโดนปรับ ไม่เกิน 2000 บาท

4.  เราไม่พกใบขับขี่ เพราะใบขับขี่ถูกยึด ถ้าตำรวจเรียกตรวจ เราก็แสดงใบสั่งแทนได้ไม่โดนปรับครับ แต่ใช้ได้ไม่เกิน 7 วัน ถ้าเกินกว่านั้น เกิดโดนตำรวจเรียกตรวจ ต่อให้เราแสดงใบสั่ง ก็อาจโดนปรับข้อหาขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับรถที่จะแสดงได้ปรับไม่เกิน 500 บาท

หากผู้ขับขี่ขณะเกิดอุบัติเหตุไม่เคยได้รับใบอนุญาตใบขับขี่ อาจเป็นเหตุให้บริษัทประกันปฏิเสธความคุ้มครองได้บางส่วน โดยต้องแยกพิจารณาความคุ้มครองเป็นหมวดๆ ไป มีกรณีที่สำคัญดังนี้

1.  ความคุ้มครองต่อบุคคลภายนอก – คุ้มครอง ประกันต้องจ่ายค่ารับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกทั้งต่อร่างกาย และทรัพย์สิน เต็มจำนวน และไม่สามารถเรียกเงินจากผู้เอาประกันได้

2.  ความคุ้มครองความเสียหายรถคันเอาประกัน กรณีเป็นฝ่ายถูก คุ้มครอง

3.  ความคุ้มครองความเสียหายรถคันเอาประกัน กรณีเป็นฝ่ายผิดไม่คุ้มครอง

4.  ความคุ้มครองความเสียหายรถคันเอาประกัน กรณีเป็นฝ่ายผิด แต่เป็นกรมธรรม์แบบระบุผู้ขับขี่ และผู้ขับขี่ตอนเกิดอุบัติเหตุเป็นผู้ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ – คุ้มครอง เนื่องจาก กรมธรรม์แบบระบุผู้ขับขี่ ให้ถือว่าบริษัทประกันได้พิจารณาความสามารถของผู้ขับขี่ที่ระบุไว้นั้น

5. ความคุ้มครองกรณีรถหาย น้ำท่วม – คุ้มครอง เนื่องจากความสามารถในการขับขี่ของผู้ขับขี่ ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงภัย

 

 

ข้อมูลจาก

คู่มือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์

สาธิต บวรสันติสุทธิ์ , CFP

พ.ร.บ  จราจรทางบก  พ.ศ  2522

 

นายเกรียงศักดิ์   นวลศรี

น.บ   น.บ.ท   วิชาชีพว่าความ   ที่ปรึกษากฎหมาย     และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com

 

Facebook Comments