คำถาม
สัญญาจำนอง เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมหรือไม่
คำตอบ
เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกา วินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2900/2550
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้บังคับจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ในการบังคับจำนองหากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีปัญหาข้อใดที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ได้
จำเลยที่ 3 มอบให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจจัดการจำนองที่ดินไว้แก่โจทก์ เพื่อประกันหนี้เงินกู้จำเลยที่ 1 และทำสัญญากู้ยืมเงินโดยให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย สอดคล้องกับสัญญาจำนองที่ดินข้อ 1 ซึ่งมีข้อความระบุว่า คู่สัญญาให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 3 กู้ยืมเงินโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มีสัญญาจำนองที่ดินเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่สามารถใช้ฟ้องร้องบังคับจำเลยที่ 3 ให้ชำระหนี้ได้สิ้นเชิงอย่างหนี้สามัญ การทำข้อตกลงตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 5 อันเป็นการตกลงกันเป็นพิเศษนอกเหนือจากที่ ป.พ.พ. มาตรา 733 บัญญัติไว้ เพื่อให้มีผลบังคับกันว่าจำเลยที่ 3 ต้องชำระหนี้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิง จึงเป็นการที่จำเลยที่ 2 ได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน สัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 5 จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 3
สรุป สัญญาจำนองถือเป็นหลักฐานการกู้ยืม
มีปัญหาเกี่ยวกับคดีความปรึกษาทนายกฤษดา
0999170039