Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ เงินดาวน์งวดที่สองที่ชำระหลังวันทำสัญญา ถือเป็นมัดจำหรือไม่และหากผิดสัญญามีสิทธิ์ริบหรือไม่

เงินดาวน์งวดที่สองที่ชำระหลังวันทำสัญญา ถือเป็นมัดจำหรือไม่และหากผิดสัญญามีสิทธิ์ริบหรือไม่

5427

 

ปัญหานี้เกิดกันเยอะนะครับ เป็นปัญหาที่เกิดกันใกล้ตัวอยากให้ผู้อ่านพิจารณาอ่านถึงเหตุผลในคำพิพากษาฎีกาจะได้ทราบที่มาแห่งสิทธิของตนเองนะครับ

คำถาม
เงินดาวน์งวดที่สองที่ชำระหลังวันทำสัญญา ถือเป็นมัดจำหรือไม่และหากผิดสัญญามีสิทธิ์ริบหรือไม่

คำตอบเคยมีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 7175/2554 โจทก์ไม่ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา โจทก์จึงเป็นผู้ผิดสัญญา การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองคืนเงินที่ได้ชำระไปแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองขอใช้สิทธิริบเงินมัดจำตามข้อตกลงในสัญญา ถือได้ว่าเป็นการตกลงเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะมีข้อตกลงกันให้ถือเงินดาวน์เป็นเงินมัดจำ และหากโจทก์ผิดสัญญายอมให้ริบเงินมัดจำ แต่ได้ความว่าในวันทำสัญญาโจทก์ชำระเงินดาวน์ให้จำเลยทั้งสองเพียง 340,000 บาท เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยทั้งสองในวันทำสัญญาเพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาถือเป็นมัดจำ ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด แม้ตามสัญญาจะระบุให้ถือเป็นมัดจำก็ไม่ใช่มัดจำตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 377 แต่เป็นเพียงการชำระค่าที่ดินบางส่วนเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 340,000บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด ซึ่งถือเป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วนนั้น จำเลยทั้งสองต้องให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันให้จำเลยทั้งสองริบเงินดาวน์ดังกล่าวได้หากโจทก์ผิดสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจปรับลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

มีปัญหาเกี่ยวกับคดีความปรึกษาทนายกฤษดา
0999170039
IMG_0548-0

Facebook Comments