Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ สำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาแบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์เป็นเอกสารหรือไม่ เป็นเอกสารสิทธิ เอกสารราชการ หรือเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ หรือไม่ ...

สำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาแบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์เป็นเอกสารหรือไม่ เป็นเอกสารสิทธิ เอกสารราชการ หรือเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ หรือไม่ ประการใด ?

8426

P1050572

สำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาแบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์เป็นเอกสารหรือไม่ เป็นเอกสารสิทธิ เอกสารราชการ หรือเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ หรือไม่ ประการใด ?

 

 

ผมมีคำตอบให้ปรากฎตามคำพิพากษาฎีกาดังต่อไปนี้   นะครับ

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10617/2546 

จำเลยทำสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาแบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์ซึ่งเป็นเอกสารปลอมและฉ้อโกงผู้เสียหาย แต่หนังสือมอบอำนาจเป็นเพียงเอกสารซึ่งผู้มอบอำนาจมอบหมายให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทน มิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ ทั้งมิใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่เป็นเอกสารราชการ ส่วนสำเนาแบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์แม้จะเป็นแบบพิมพ์ของกรมการขนส่งทางบก แต่ก็เป็นแบบพิมพ์สำหรับผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนโอนและรับโอนรถยนต์นำไปกรอกข้อความลงไปได้เอง แล้วนำไปยื่นต่อนายทะเบียนเพื่อจดทะเบียนเท่านั้น มิใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่เป็นเอกสารราชการ อีกทั้งมิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 266 (1) และใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) จำเลยคงมีความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก กระทงหนึ่ง , มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก และ 341 ที่ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนโดยมิได้แก้ไข จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225

 

________________________________

 

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒ , ๓๓ , ๙๑ , ๒๖๔ , ๒๖๕ , ๒๖๖ , ๒๖๘ และ ๓๔๑ ริบของกลาง และให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงิน จำนวน ๖๕,๓๖๐ บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ , ๒๖๖ (๑) กระทงหนึ่ง , ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๖ (๑) และ ๓๔๑ อีกกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๖ (๑) เพียงกระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง จำคุก ๒ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ ปี ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว? ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทำสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาแบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์ปลอมนั้น หนังสือมอบอำนาจเป็นเพียงเอกสารซึ่งบุคคลหนึ่งเป็นผู้มอบอำนาจ มอบหมายให้บุคคลอีกคนหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจ ให้มีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทน มิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ (๙) ทั้งมิใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่เป็นเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ (๘) ส่วนสำเนาแบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์ แม้จะเป็นแบบพิมพ์ของกรมการขนส่งทางบก แต่ก็เป็นแบบพิมพ์สำหรับผู้ที่ประสงค์จะจดทะเบียนโอนและรับโอนรถยนต์นำไปกรอกข้อความลงไปได้เอง แล้วนำไปยื่นต่อนายทะเบียนเพื่อดำเนินการแก้ไขรายการจดทะเบียนในใบคู่มือจดทะเบียนเท่านั้น มิใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงไม่เป็นเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ (๘) อีกทั้งแบบคำขอโอนและรับโอนทะเบียนรถยนต์ดังกล่าว มิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ (๙) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๖ (๑) และใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๖ (๑) จำเลยคงมีความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม และฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ วรรคแรก กระทงหนึ่ง , มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๔ วรรคแรก และ ๓๔๑ อีกกระทงหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง และศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืนโดยมิได้แก้ไข จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา ๒๒๕

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ วรรคแรก กระทงหนึ่ง , มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๔ วรรคแรก และ ๓๔๑ อีกกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๔ วรรคแรก เพียงกระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔.

 

 

( ชวลิต ยอดเณร – กุลพัชร์ อิทธิธรรมวินิจ – ประเสริฐ เขียนนิลศิริ )

 

ศาลจังหวัดขอนแก่น – นายลือเดช ทับทิมพรรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 – นายสิงห์พล ละอองมณี

นายเกรียงศักดิ์  นวลศรี   

น.บ   น.บ.ท   วิชาชีพทนายความ   ที่ปรึกษากฎหมาย   และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com

Facebook Comments