ถาม: สามีทำพินัยกรรมยกบ้านทั้งหลังซึ่งสินสมรสระหว่างสามีภริยาให้บุคคลอื่นได้หรือไม่
ตอบ: การทำพินัยกรรมยกสินสมรสให้แก่บุคคลใดเป็นการจัดการเกี่ยวกับสินสมรสชนิดหนึ่ง ซึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1481 บัญญัติไว้ว่า สามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจะทำพินัยกรรมจำหน่ายสินสมรสเกินกว่าส่วนของตนไม่ได้ หากทำพินัยกรรมยกสินสมรสเกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลอื่น พินัยกรรมนั้นไม่มีผลบังคับถึงสินสมรสที่เกินส่วนนั้น คงมีผลเฉพาะสินสมรสที่เป็นของส่วนผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น
ฉะนั้น หากสามีทำพินัยกรรมยกบ้านซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยาให้บุคคลอื่นทั้งหลัง ย่อมมีผลเพียงแค่ครึ่งหนึ่งอันเป็นส่วนที่เป็นสินสมรสส่วนของสามีเท่านั้น ภริยายังคงมีสิทธิในสินสมรสส่วนของตนอีกครึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาฎีกาที่ 3544/2542
แม้การที่ ร.ให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรส โดยเสน่หาแก่จำเลยโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 1476 (5) และ 1479 และโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ดังกล่าวภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เรื่องที่ ร.จดทะเบียนการให้ที่ดินแก่จำเลยหรือภายใน 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนการให้ตาม มาตรา 1480 ได้ก็ตาม แต่โจทก์ยังมิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ ดังนี้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่และจำเลยครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เนื่องจากได้รับยกให้จาก ร.จำเลยจึงไม่มีหน้าที่แบ่งสินสมรสดังกล่าวของ ร.ให้โจทก์ การทำพินัยกรรม มิใช่เป็นการจัดการสินสมรสที่จะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง
แม้ ร.มีสิทธิทำพินัยกรรมยกบ้านพิพาทที่เป็นสินสมรสระหว่างร.กับโจทก์ที่ ร.มีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 1476วรรคสอง ได้ก็ตาม แต่ ร.ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในบ้านส่วนของโจทก์อีกครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยได้ การที่ ร.ทำพินัยกรรมยกบ้านสินสมรสทั้งหลังให้แก่จำเลยจึงไม่มีผลผูกพันส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิฟ้องติดตามเอาคืนทรัพย์ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ โดยไม่มีกำหนดเวลาการใช้สิทธิ เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ โดยโจทก์ไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของ ร. ก่อน
มีปัญหาเกี่ยวกับคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา