“ กฎหมายเกี่ยวกับพลุและดอกไม้ไฟ “ ซึ่งปรากฎตาม พระราชบัญญัติพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ตามมาดูกันเลยครับ
ความผิดเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายดอกไม้เพลิงตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน
หมวด 3 ดอกไม้เพลิง
มาตรา 47 ห้ามมิให้ผู้ใดทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งดอกไม้เพลิงเว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่
มาตรา 48 ในการทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าดอกไม้เพลิงให้นำ มาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 35 และมาตรา 37 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 49 โดยอนุมัติของรัฐมนตรี นายทะเบียนท้องที่อาจกำหนดเงื่อนไขลงในใบอนุญาตว่าด้วยการเก็บรักษาดอกไม้เพลิงก็ได้ตามสมควร
มาตรา 50 ใบอนุญาตที่ออกให้ตามความในหมวดนี้มีอายุใช้ได้หนึ่งปีนับแต่วันออก
มาตรา 51 ถ้าปรากฎว่าที่เก็บ ทำ หรือค้าดอกไม้เพลิง อาจเป็นอันตรายแก่ประชาชน เพื่อปลอดภัยนายทะเบียนท้องที่จะสั่งให้ผู้ได้รับอนุญาตจัดการตามความจำเป็นหรือจะย้ายสถานที่นั้นเสียก็ได้
หมวด 6 บทกำหนดโทษ
มาตรา 77(1) ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 47 หรือมาตรา 52 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนท้องที่ตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 84(8) ผู้ใดฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติเกี่ยวกับดอกไม้เพลิงตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 35 มาตรา 37 วรรคสอง หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขตามมาตรา 27 หรือมาตรา 29 ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 48 หรือมาตรา 49 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ การสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ กำหนดพื้นที่ที่ไม่สมควรให้มีการเล่นดอกไม้เพลิง เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน กรณีเกิดอุบัติภัยขึ้นไม่ว่าจะเป็นเพลิงไหม้ หรือการระเบิดของดอกไม้เพลิงโดยประมาทและขาดความระมัดระวังจนเกิดอันตรายต่อประชาชนแล้ว จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๐ อาจต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี นอกจากนี้ หากผู้ใดทำให้เกิดเสียงโดยไม่มีเหตุอันสมควรจนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท ตามมาตรา ๓๗๐
แนวทางปฏิบัติของร้านค้า
ร้านค้าที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการซื้อขายพลุและดอกไม้ไฟจำเป็นต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 อย่างเคร่งครัดคือ
- ร้านค้าที่มีพลุหรือดอกไม้เพลิงไว้เพื่อเก็บและจำหน่ายในร้านค้า ต้องมีน้ำหนักรวมของดินปืนหรือสารระเบิดโดยไม่รวมวัสดุห่อหุ้มไม่เกิน…50..กิโลกรัม
- ต้องมีที่เก็บเป็นสัดส่วนโดยมีชั้นเก็บเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นมีช่องให้อากาศสามารถถ่ายเทได้ดี ห้ามวางดอกไม้เพลิงทับหรือซ้อนกันจำนวนมาก
- ต้องไม่วางดอกไม้เพลิงปะปนกับสินค้าอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่ง่ายต่อการติดไฟ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด/ก๊าซ/ไม้ขีดไฟ/เป็นต้น
4.ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพและให้มีจำนวนตามที่นายทะเบียนกำหนด
- ร้านค้าดอกไม้เพลิงสามารถจำหน่ายได้เฉพาะภายในเวลา 06.00 – 18.00 น. และจะต้องจำหน่ายในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
หากร้านค้าใดไม่ปฏิบัติตามนี้ นายทะเบียนท้องที่จะพิจารณาเกี่ยวกับการขอต่อใบอนุญาตในปีต่อไป สำหรับร้านค้าซึ่งจำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่สำคัญหากผู้ที่ซื้อไปเล่นนำไปก่อเหตุตามความผิดทางอาญา เช่นไปทำให้บ้านใครเกิดเพลิงไหม้ ไปทำให้ใครได้รับอันตรายทางร่างกาย ฯลฯ คุณผู้เล่นก็ต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นนั้น ทั้งทางแพ่งและอาญาเลยนะครับ
ผู้เล่น…ก็ต้องระวัง
สำหรับผู้เล่นพลุและดอกไม้ไฟก็ต้องระมัดระวังไม่ให้การเล่นของคุณเป็นความผิดทางอาญาตามมา เพราะนอกจากจะต้องรับผิดทางอาญาถึงขั้นจำคุกแล้ว หากเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ก็อาจถูกลงโทษถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตเลยทีเดียว นอกจากนี้คุณยังต้องชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดอีกชั้นด้วย และหากเศษของพลุหรือดอกไม้ไฟทำให้ทางสาธารณะหรือสถานที่สกปรก คุณก็ต้องรับโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535
นายเกรียงศักดิ์ นวลศรี น.บ น.บ.ท วิชาชีพว่าความ ที่ปรึกษากฎหมาย และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com