Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ฟ้องผิดข้อหา ทางพิจารณาได้ความว่ากระทำผิดอีกฐานหนึ่ง ศาลมีอำนาจลงโทษหรือไม่

ฟ้องผิดข้อหา ทางพิจารณาได้ความว่ากระทำผิดอีกฐานหนึ่ง ศาลมีอำนาจลงโทษหรือไม่

10512

 

กรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาหนึ่งแต่ทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดอีกข้อหาหนึ่ง กรณีนี้ข้อหาที่ปรากฏในการพิจารณานั้น พนักงานสอบสวนจะได้มีการแจ้งข้อหาหรือมีการสอบสวนหรือไม่ ศาลก็ลงโทษได้เพราะการไม่แจ้งข้อหา มีผลเพียงห้ามอัยการฟ้องเท่านั้น แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากในตัวคำฟ้องและในทางพิจารณา ศาลจะลงโทษได้หรือไม่ และ เมื่อข้อหาที่ปรากฏในทางพิจารณานั้น โจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 ศาลจะลงโทษจำเลยได้ หรือไม่ ประการใด

 

คำตอบ  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2129/2537 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานปล้นทรัพย์แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณากลับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2กระทำความผิดฐานรับของโจร ดังนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติว่า ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิให้ถือว่าแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอ หรือเป็นข้อหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ประกอบกับจำเลยที่ 2 ไม่ได้หลงข้อต่อสู้ จึงชอบที่ศาลจะลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานรับของโจรได้ ส่วนการที่พนักงานสอบสวน มิได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนจำเลยที่ 2 ในข้อหาฐานรับของโจรเป็นเรื่องที่กฎหมายห้ามมิให้พนักงานอัยการนำคดีในข้อหาดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลเท่านั้น

 

แต่เมื่อข้อหาที่ปรากฏในทางพิจารณานั้น โจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 เช่นนี้ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยได้

 

ฎีกาที่ 3812 – 3814/2556 จำเลยไม่ได้รับมอบทรัพย์โดยชอบแล้วเบียดบังไว้โดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อ ก. เพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษฐานนี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ จึงเป็นการแตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และยักยอก เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม แต่อำเภอโนนแดงร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

 

ดังนั้น  จึงพอสรุปได้ว่า  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาหนึ่ง แต่ทางพิจารณาได้ความ ว่าจำเลยกระทำผิดในอีกข้อหาหนึ่ง ซึ่ง กฎหมายบัญญัติมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสำคัญตามมาตรา 192 วรรคสามนั้น ข้อหาที่ปรากฏในทางพิจารณาพนักงานสอบสวนจะได้มีการแจ้งข้อหาหรือมีการสอบสวนหรือไม่ ศาลก็ลงโทษจำเลยได้  แต่หากเป็นกรณีอันเป็นความผิดอันยอมความได้หรือเป็นความผิดส่วนตัว  หากมิได้ร้องทุกข์ภายในเวลา ที่กฎหมายกำหนดซึ่งปรากฎตามความในมาตรา  96  นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96  นั้นได้  

 

 

นายเกรียงศักดิ์   นวลศรี 

น.บ    น.บ.ท   วิชาชีพว่าความ    ที่ปรึกษากฎหมาย  และผู้เขียนบทความในเว็บตั๋วทนาย.com

 

 

Facebook Comments