Home คดีแพ่ง ก่อสร้างกำแพงรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต จะต้องรื้อถอนหรือไม่

ก่อสร้างกำแพงรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต จะต้องรื้อถอนหรือไม่

33184

คำถาม

ก่อสร้างกำแพงรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต จะต้องรื้อถอนตามประมวลแพ่งฯ มาตรา ๑๓๑๒ หรือไม่

คำตอบ

เคยมีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2036/2539

เสากำแพงที่แยกต่างหากจากเสาโรงเรือน ไม่ใช่ส่วนหนึ่ง ของโรงเรือนอันจะถือเป็นโรงเรือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคแรก ฉะนั้นจำเลยจะอ้างว่าก่อสร้างกำแพงรุกล้ำโดยสุจริตไม่ต้องรื้อถอนตามบทกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่

สรุปคือแม้ก่อสร้างโดยสุจริตก็ต้องรื้อถอน เพราะกำแพงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโรงเรือน

มีปัญหาเกี่ยวกับคดีความ ปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา 0999170039

IMG_0548-0

ฎีกาเต็ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2036/2539

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 11102เนื้อที่ 1 งาน 69 ตารางวา ด้านทศตะวันออกติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 11101 ด้านทิศใต้ติดที่ดินโฉนดเลขที่ 8378 โจทก์ใช้ที่ดินดังกล่าวปลูกบ้านพักอาศัยและเปิดร้ายขายอาหาร เมื่อประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2531 จำเลยปลูกสร้างอาคารพาณิชย์และทำท่อน้ำทิ้งลงในที่ดินโฉนดเลขที่ 8378 รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ด้านทิศใต้กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร จากมุมด้านทิศตะวันตกไปทางด้านทิศตะวันออกเป็นความยาวประมาณ30 เมตร กับจำเลยสร้างกำแพงล้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 11101 รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกกว้างประมาณ 30 เซนติเมตรจากมุมด้านทิศเหนือไปทางด้านทิศใต้ยาวประมาณ 15 เมตรและจำเลยปล่อยน้ำเสียลงมาในที่ดินของโจทก์จนเกิดความสกปรก ส่งกลิ่นเหม็นเข้ามาในบ้านพักและร้านขายอาหารของโจทก์ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์โจทก์เคยบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและหยุดการกระทำดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์เสียหายและขาดรายได้จากการขายอาหารเดือนละ 10,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารพาณิชย์ ท่อน้ำทิ้ง กำแพง ออกไปจากที่ดินของโจทก์และปรับพื้นดินให้อยู่ในสภาพเดิม หากจำเลยฝ่าฝืนให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการเองโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายกับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะได้รื้อถอนและปรับพื้นดินเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ทำท่อน้ำทิ้ง กำแพงรุกล้ำ และมิได้ปล่อยน้ำเสียเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย ไม่ใช่ของโจทก์หากเป็นที่ดินของโจทก์จริงจำเลยก็กระทำโดยสุจริตโจทก์จึงไม่มีสิทธิให้จำเลยรื้อถอน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารพาณิชย์ท่อน้ำทิ้งและกำแพงส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 11102ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมืองจันทบุรีจังหวัดจันทบุรี ของโจทก์ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.2ออกไปจากที่ดินดังกล่าว และปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมหากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการเองโดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ5,000 บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะได้มีการรื้อถอนและปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรื้อถอนกำแพงล้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 11101 เฉพาะส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 11102 ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมืองจันทบุรีจังหวัดจันทบุรี ของโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือนับจากมุมกำแพงด้านดังกล่าวไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะ 6 เซนติเมตรและนับไปทางทิศใต้จนกระทั่งถึงเส้นตรงระหว่างหมุดหลักเขตน.6657 กับหมุดหลักเขต น.9601 ตามที่ปรากฏในแผนที่วิวาทเอกสารหมาย ล.22 ออกไปจากที่ดินของโจทก์ และปรับที่ดินบริเวณดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเดิม กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 100 บาท นับจากวันฟ้อง จนกว่าจะได้มีการรื้อถอนและปรับที่ดินให้คืนสภาพเดิม

โจทก์ฎีกา

จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งโจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าแผนที่วิวาทฉบับใดเป็นแผนที่ที่ถูกต้องแน่นอนไม่ได้ก็ดี อาคารทางด้านทิศตะวันตกปลายอาคารไม่รุกล้ำเข้าไปในที่โจทก์ก็ดี อาคารจำเลยตั้งตรงเป็นแนวเดียวกับฐานรากก็ดีคลาดเคลื่อนต่อความจริง จำเลยก่อสร้างอาคารและกำแพงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริต โจทก์ได้รับความเสียหายเดือนละ 500 บาท นั้นล้วนเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ส่วนจำเลยฎีกาข้อแรกว่ากำแพงซึ่งจำเลยก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรือนโดยเป็นผนังอาคารบ้านพักคนงาน ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.10 จึงเป็นโรงเรือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคแรก นั้นเห็นว่า ตามภาพถ่ายหมาย ล.10 เสากำแพงพิพาทแยกต่างหากจากเสาโรงเรือน ตามลักษณะของกำแพงและโรงเรือนในภาพเห็นได้ว่ากำแพงและโรงเรือนสร้างคนละครั้งกันกำแพงพิพาทจึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโรงเรือนอันจะถือเป็นโรงเรือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคแรกฉะนั้น จำเลยจะอ้างว่าก่อสร้างโดยสุจริตไม่ต้องรื้อถอนตามบทกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่ และเมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ขอให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนที่ดินส่วนที่สร้างกำแพงรุกล้ำเป็นภาระจำยอมอีกต่อไปเพราะไม่อาจบังคับให้ได้”

พิพากษายืน และให้ยกฎีกาโจทก์

 

Facebook Comments