Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ ข้อแก้ตัวทางกฎหมายผู้ชายเจ้าชู้ อะไรบ้าง ที่ทำให้เหตุหย่าสิ้นไป(ข้อยกเว้นของเหตุฟ้องหย่า)

ข้อแก้ตัวทางกฎหมายผู้ชายเจ้าชู้ อะไรบ้าง ที่ทำให้เหตุหย่าสิ้นไป(ข้อยกเว้นของเหตุฟ้องหย่า)

5179

คู่รักสมัยนี้ เกิดง่าย เลิกง่าย แต่งง่าย หย่าง่าย ก็เป็นไปถามวิถีจักรสัจธรรม หากถามถึงเหตุหย่าหลายท่านคงทราบดีแล้ว แต่จะมีเหตุใดๆบ้างที่ทำให้เหตุหย่าสิ้นไป

คำถาม

ข้อแก้ตัวทางกฎหมายผู้ชายเจ้าชู้ อะไรบ้าง ที่ทำให้เหตุหย่าสิ้นไป(ข้อยกเว้นของเหตุฟ้องหย่า) ?

ข้อยกเว้นเหตุหย่า

คำตอบ

ข้อยกเว้นในเหตุฟ้องหย่า มีดังนี้
        1.การยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจของฝ่ายที่มีสิทธิ์ฟ้องหย่า
เหตุฟ้องหย่า กรณีที่สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา  หรือภริยามีชู้ และกรณีที่สามีหรือภริยาประพฤติชั่วนั้น ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณีได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

การยินยอมในที่นี้คือ การแสดงกิริยาอาการให้ปรากฏชัดว่าอนุญาตให้กระทำ ส่วนรู้เห็นเป็นใจนั้น คือการให้ความสะดวกในการกระทำ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม

ระหว่างจำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์ จำเลยมีอาชีพผิดกฎหมายค้ายาเสพติด โจทก์รู้เห็นและร่วมกระทำด้วย ถือได้ว่าโจทก์ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำของจำเลยที่เป็นเหตุหย่านั้น โจทก์จะยกขึ้นเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยหาได้ไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 3288/2527) ก่อนที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลย โจทก์หาได้มีความสัมพันธ์กับจำเลยในฐานะสามีภริยาตามกฎหมายไม่ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในฐานะภริยาจำเลย แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากับ ร. และมีบุตรด้วยกันก่อนที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลย ก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำดังกล่าวของจำเลย โจทก์จึงอ้างเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) ฟ้องหย่าจำเลยได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  764/2534)

 2.การกระทำของฝ่ายที่มีสิทธิ์ฟ้องหย่าเป็นเหตุให้เกิดเหตุหย่านั้น  กรณีที่สภาพแห่งกายของสามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาลนั้น  ถ้าเกิดขึ้นเพราะการกระทำของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสฝ่ายนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะตนเป็นคนผิดที่เป็นต้นเหตุให้เกิดหย่าขึ้น เช่น  ภริยาโกรธสามีที่ชอบไปยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่น จึงใช้มีดโกนตัดของลับของสามีโยนทิ้งไปเช่นนี้ ภริยาจะมาฟ้องหย่าโดยอ้างว่าสภาพแห่งกายของสามีไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาลไม่ได้

3.เหตุหย่าเป็นเหตุเล็กน้อย กรณีที่สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤตินั้น ถ้าศาลเห็นว่าความประพฤติของสามีหรือภริยาอันเป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่าก็ได้ ทั้งนี้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง ไม่ถึงกับทำให้การสมรสแตกแยกกันโดยไม่มีทางกลับคืนมาได้อีก

อย่างไรก็ดี ถ้าการผิดทัณฑ์บนนั้นไม่ใช่ทัณฑ์บนในเรื่องความประพฤติก็ไม่เป็นเหตุฟ้องหย่า การที่ภริยาทำทัณฑ์บนว่าจะอยู่ร่วมบ้านกับสามี และต่อมาภริยาประพฤติผิดทัณฑ์บนโดยไม่อยู่ร่วมบ้านกับสามีนั้น ทัณฑ์บนดังกล่าวไม่ใช่ทัณฑ์บนในเรื่องความประพฤติ จึงไม่เป็นเหตุฟ้องหย่า การกระทำของจำเลยมีสาเหตุจากการกระทำของโจทก์ จึงยังไม่ถือว่าจำเลยประพฤติผิดทัณฑ์บนที่ให้ไว้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2040/2519)หลังจากจำเลยทำทัณฑ์บนแล้ว โจทก์ยังมีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับหญิงอื่น จำเลยจึงดุด่าและทำร้ายโจทก์อีก การกระทำของจำเลยมีสาเหตุจากการกระทำของโจทก์ จึงยังไม่ถือว่าเป็นการประพฤติผิดทัณฑ์บนที่ให้ไว้อันจะเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (8) (คำพิพากษาฎีกาที่ 5161/2538)

           4.ฝ่ายที่มีสิทธิ์ฟ้องหย่าได้ให้อภัยแล้ว แม้เหตุฟ้องหย่าจะเกิดขึ้นแล้ว  แต่หากคู่สมรสฝ่ายที่มีสิทธิ์ฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงว่าได้ให้อภัยในเหตุการณ์นั้นแล้ว คู่สมรสฝ่ายนั้นก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะฟ้องหย่าภายหลังได้ ทั้งนี้  เพราะสิทธิ์ฟ้องหย่าได้หมดสิ้นไปแล้วตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1518

โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกัน ต่อมาจำเลยไปได้นางมีเป็นภริยา มีบุตรด้วยกัน 1 คน โจทก์ได้ฟ้องหย่าจำเลย ศาลไกล่เกลี่ย โจทก์จำเลยตกลงกันว่า จำเลยจะต้องกลับมาอยู่ในบ้านหลังเดียวกับโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้องกับหญิงอื่นต่อไป โจทก์จึงได้ถอนฟ้องไป ปรากฏว่าหลังจากถอนฟ้องแล้ว จำเลยยังคงอยู่ร่วมกับนางมีฉันสามีภริยาต่อมา การที่โจทก์ยอมถอนฟ้องก็เพราะจำเลยตกลงเงื่อนไขกับโจทก์ไว้ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข จึงมิใช่กรณีที่โจทก์ยอมให้อภัยจำเลย การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (6) โจทก์ย่อมฟ้องหย่าจำเลยได้ (คำพิพากษาฎีกาที่  173/2540) การยินยอมและให้อภัยที่จะยกเป็นเหตุหย่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1518 หมายถึง คู่สมรสฝ่ายที่ยินยอมและให้อภัยได้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิ์ฟ้องหย่านั้น  แต่แสดงเจตนาให้ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าอนุญาตให้กระทำหรือไม่ใช้สิทธิ์ฟ้องหย่า

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสาเหตุที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบ  เนื่องจากโจทก์ไม่ทราบแน่ชัด และไม่คาดคิดว่าจำเลยจะจริงจังกับ ส. เพราะขณะนั้นจำเลยยังมีหญิงอื่นอีกหลายคน จนเมื่อปี 2545 โจทก์ทราบว่าจำเลยกับ  ส. มีบุตรด้วยกันจึงได้นำคดีมาฟ้อง อันเป็นเหตุผลที่โจทก์ไม่ฟ้องหย่าจำเลยแต่แรกที่ทราบเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ส. จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เคยยินยอมหรือให้อภัยในเรื่องที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง ส. ฉันภริยา  โจทก์จึงมีสิทธิ์ที่จะฟ้องหย่าจำเลยด้วยเหตุหย่าดังกล่าวได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2549)

มีปัญหาเกี่ยวกับคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0999170039

IMG_0548-0

Facebook Comments