คำถาม
ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งที่ ไม่มีข้อตกลงว่าผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยในทางอาญา ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับหรือไม่ ?
คำพิพากษาที่ 4751/2547
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นลูกจ้างมีหน้าที่เป็นพนักงานขายและเก็บเงินจากลูกค้าผู้ซื้อสินค้าของผู้เสียหายนำส่งให้แก่สำนักงานสาขาของผู้เสียหาย เก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแล้วเบียดบังเอาเป็นของตนเองโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352 กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 310,578 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 34 กระทง เป็นจำคุก 34 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 17 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปเพราะเหตุที่ได้มีการยอมความกันแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติและฎีกาของจำเลยซึ่งโจทก์รับสำเนาแล้วไม่โต้แย้งคัดค้านว่า ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยและผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ค่าสินค้าทั้ง 34 รายการ อันเป็นมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4196/2542 ของศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์) และผู้เสียหายกับจำเลยและผู้ค้ำประกันได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามเอกสารแนบท้ายคำร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 ในคดีนี้ระบุว่า จำเลยและผู้ค้ำประกันยินยอมผ่อนชำระหนี้เงินที่ค้างชำระให้แก่ผู้เสียหายเป็นงวดๆ หากจำเลยและผู้ค้ำประกันผิดนัดชำระงวดใดงวดหนึ่ง ยอมให้ผู้เสียหายบังคับคดีได้ทันที และผู้เสียหายไม่ติดใจเรียกร้องอื่นใดจากจำเลยและผู้ค้ำประกันอีกต่อไป เห็นว่า การที่ผู้เสียหายฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางดังกล่าวเป็นการฟ้องคดีเนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างได้กระทำละเมิดต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้าง อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งซึ่งไม่มีข้อตกลงว่าผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยในทางอาญา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหายได้รับความ ไว้วางใจมอบหมายให้ทำหน้าที่พนักงานขายสินค้าและเก็บเงินจากลูกค้า สมควรปฏิบัติต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่จำเลยกลับอาศัยโอกาสดังกล่าวยักยอกเงินค่าสินค้าของผู้เสียหายถึง 34 ครั้ง ต่อเนื่องกันมารวมเป็นเงินจำนวนสูงถึง 310,578 บาท ทั้งระหว่างพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้พยายามบรรเทาผลร้าย โดยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน