Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ รวมคำพิพากษาฎีกาในคดีประมาทร่วม

รวมคำพิพากษาฎีกาในคดีประมาทร่วม

19755

pamart

คำพิพากษาฎีกาที่ 3576/2550

แม้คดีนี้ศาลจะลงโทษจำคุกจำเลย แต่เป็นความผิดที่จำเลยกระทำโดยประมาท จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก ที่จะนำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 นำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225
( ชวลิต ตุลยสิงห์ – บุญส่ง น้อยโสภณ – สิทธิชัย พรหมศร )
ศาลจังหวัดมหาสารคาม – นายธนากร ภัทรากร
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 – นายประมวญ รักศิลธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 492/2550

แม้จะปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุก 6 ปีก็ตาม แต่จากการตรวจสอบของพนักงานคุมประพฤติได้รายงานให้ทราบว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเคยรับตัวจำเลยไว้คุมขังในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งศาลอาญาพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 6 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 เป็นต้นไป คดีถึงที่สุดและจำเลยได้รับการปล่อยตัวไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2536 เนื่องจากได้รับพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษฯ จำเลยจึงเป็นผู้กระทำความผิดก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2539 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาลสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีฯ ใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่บัญญัติให้ถือว่าจำเลยมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดที่ได้กระทำไปแล้วก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินฉบับนี้ใช้บังคับ ดังนั้นต้องถือว่าจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 56 ที่ศาลจะพิจารณารอการลงโทษให้แก่จำเลยได้
( ชวลิต ตุลยสิงห์ – บุญส่ง น้อยโสภณ – สิทธิชัย พรหมศร )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 346/2550
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
นางนิภา เชื้อนาม โจทก์ร่วม
นายสุรเชษฐ์ กานิวาสน์ กับพวก จำเลย

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 จอดรถรอเลี้ยวอยู่ในช่องกลับรถไม่ล้ำเข้าไปกีดขวางการจราจรในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (3), 157 มาด้วย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้างและความผิดฐานดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว แต่เมื่อคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
( ชวลิต ตุลยสิงห์ – บุญส่ง น้อยโสภณ – สิทธิชัย พรหมศร )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 321/2550
นางสาวสุมาลี สินอนันต์ โจทก์
นายอำนาจ พันท้าว กับพวก จำเลย

การเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งให้นับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง นั้นหมายความเฉพาะการเรียกร้องจากตัวผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมในการกระทำผิดโดยเฉพาะ มิได้หมายถึงผู้อื่นที่ไม่ได้ร่วมในการกระทำความผิดด้วย การเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง จึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า เหตุคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2542 แต่โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 หลังเกิดเหตุเป็นเวลา 3 ปีเศษ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ย่อมเป็นการแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้เป็นที่เข้าใจแล้วว่า นับแต่วันเกิดเหตุละเมิดถึงวันฟ้องคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ไปแล้ว คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงมีประเด็นเรื่องอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8314/2549

พนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดบึงกาฬ โจทก์
นายแมนหรือตู่ บัณลิตหรือบัญลิต จำเลย

ในคดีอาญาจำเลยมีสิทธิที่จะให้การอย่างใดหรือไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบพยานก่อนให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จำเลยไม่จำต้องยกประเด็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การก็มีสิทธิที่จะนำสืบในประเด็นนั้นๆ ได้ และมีอำนาจนำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้โดยไม่จำต้องซักถามพยานโจทก์ในเรื่องที่จำเลยจะนำพยานหลักฐานเข้าสืบต่อไป
การที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและทำการสอบสวนจำเลยแล้วได้สั่งปล่อยจำเลยชั่วคราวโดยมีประกันในวันเดียวกันไปจนถึงวันฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการจับกุมจำเลยในวันที่จำเลยเข้ามอบตัวแล้วตามป.อ. มาตรา 136 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น เมื่อคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท จึงอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 2 และมาตรา 3 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 และมาตรา 9 พนักงานอัยการโจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดสี่สิบแปดชั่วโมง หรือต้องมีการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องครั้งแรกภายในสี่สิบแปดชั่วโมง

________________________________

( มานัส เหลืองประเสริฐ – เกรียงชัย จึงจตุรพิธ – ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7975/2549
นายปรีชา พัวทิพย์ศิริกุล โจทก์
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับพวก จำเลย

รถบรรทุกและข้าวสารบนรถบรรทุกของโจทก์ถูกยึดไว้เป็นของกลางในการดำเนินคดีอาญาโดยจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวน มีหน้าที่ดูแลรักษารถบรรทุกและข้าวสารของกลางไว้ระหว่างสอบสวนโดยต้องใช้ความระมัดระวังดูแลเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลทรัพย์สินของตนเอง เฉพาะอย่างยิ่งมีข้าวสารบรรจุกระสอบถึง 200 กระสอบ มูลค่าหลายแสนบาทบรรทุกอยู่บนรถจะต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นมิให้สูญหายหรือได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 3 นำรถบรรทุกไปจอดในรั้วของสถานีตำรวจได้ เป็นเพียงการนำรถบรรทุกไปจอดไว้เท่านั้น มิใช่เป็นการดูแลรักษาทรัพย์สิน แม้จะได้เก็บกุญแจรถไว้ แล้วเอาโซ่และกุญแจล็อกระหว่างพวงมาลัยกับคลัตซ์และได้ตรวจดูบ่อยๆ แต่การจอดรถบรรทุกไว้ข้างถนนโดยมิได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษาตามสมควรย่อมเปิดโอกาสให้คนร้ายลักรถบรรทุกและข้าวสารไปได้โดยง่าย จำเลยที่ 3 จึงมิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลรถบรรทุกและข้าวสารเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองเป็นเหตุให้รถบรรทุกและข้าวสารสูญหายไปถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3
( ไพโรจน์ วายุภาพ – กำธร โพธิ์สุวัฒนากุล – ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7909/2549

พนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา โจทก์
นายจำนงค์ ทองสันเทียะ จำเลย

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทโดยขับด้วยความเร็วสูงเกินสมควรจนไม่สามารถหยุดหรือลดความเร็วของรถให้ช้าลงพอที่จะหลบหลีกไม่ชนรถคันอื่นหรือสิ่งอื่นใดที่กีดขวางอยู่ข้างหน้าได้ทัน โดยมิได้บรรยายฟ้องอ้างเหตุว่า จำเลยขับรถด้วยความเร็วเกินที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือตามเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ในทาง แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 67, 152 ตามคำขอท้ายฟ้องได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

( ชวลิต ตุลยสิงห์ – บุญส่ง น้อยโสภณ – สิทธิชัย พรหมศร )
ศาลจังหวัดนครราชสีมา – นายวิชา ใจจันทร์เดือน
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 – นายคมสัน ศรีทองสุก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7705/2549

 

พนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดเดชอุดม โจทก์
นายประยงค์ พิมพิจารณ์ จำเลย

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11 และมาตรา 78 วรรคหนึ่ง ประสงค์ที่จะลงโทษผู้ขับรถในทางในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นโดยไม่เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง และลงโทษผู้ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที หาใช่กรณีประสงค์จะลงโทษผู้ขับรถที่จอดรถอยู่ไม่
จำเลยกระทำโดยประมาทจอดรถยนต์บนถนนกีดขวางทางจราจร ทั้งไม่ได้เปิดโคมไฟให้แสงสว่าง เพื่อแสดงว่ามีรถยนต์จอดอยู่ เป็นเหตุให้ผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งขับรถจักรยานยนต์และซ้อนท้ายกันมาชนท้ายรถยนต์ของจำเลย แล้วจำเลยหลบหนีไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11, 148 และมาตรา 78, 160 ตามที่โจทก์ฟ้อง ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยมีเครื่องอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องด้วยจึงไม่ถูกต้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225

( ชวลิต ตุลยสิงห์ – เกษม วีรวงศ์ – บุญส่ง น้อยโสภณ )

ศาลจังหวัดเดชอุดม – นายเอกรัฐ กะการดี
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 – นายฐานันท์ วรรณโกวิท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7352/2549
พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี โจทก์
นางแฉล้ม รักกลิ่น โจทก์ร่วม
นายสุธรรม อินธิแสน กับพวก จำเลย

นอกจากจำเลยทั้งสองจะขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงลงจากสะพานแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ขับรถโดยฝ่าฝืนกฎจราจรอื่น หรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ร่วมใช้เส้นทางในการประการอื่นอีก ทั้งจุดที่เกิดการชนกันก็เป็นบริเวณช่องเดินรถตามปกติของจำเลยทั้งสองและเกิดขึ้นขณะที่ผู้ตายกำลังข้ามถนนในช่วงที่รถยนต์กำลังแล่นอยู่ ประกอบกับบริเวณที่เกิดเหตุแม้จะมีไฟฟ้าสาธารณะแต่ก็มีแสงสว่างค่อนข้างสลัว ดังนั้นแม้จะเกิดเหตุด้วยความประมาทของจำเลยทั้งสอง แต่ก็เป็นความประมาทที่ไม่ร้ายแรงนัก ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้พยายามบรรเทาความเสียหายให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายด้วยการชดใช้เงินให้บางส่วนแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีจึงมีเหตุสมควรปราณีโดยการรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 และเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า เหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดจากความประมาทของจำเลยทั้งสอง เป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่งอันเดียวกัน จำเลยที่ 1 ได้ชดใช้เงินแก่ฝ่ายผู้เสียหายจำนวน 30,000 บาท และจำเลยที่ 1 มีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่ง กับมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาโดยให้รอการลงโทษไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยได้
( ชวลิต ตุลยสิงห์ – เกษม วีรวงศ์ – บุญส่ง น้อยโสภณ )
ศาลจังหวัดนนทบุรี – นางสาวสุนทรี อัจฉริยพฤกษ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 – นายเฉลิมชัย ศรีเลิศชัยพานิช

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5188/2549

พนักงานอัยการจังหวัดนครสวรรค์ โจทก์
นายถวัล มณีขัติย์ จำเลย

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และมาตรา 390 มิใช่ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 ที่โจทก์ระบุมาในคำขอท้ายฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำให้การรับสารภาพว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง กรณีเป็นเรื่องโจทก์อ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทกฎหมายที่ลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
( ชวลิต ตุลยสิงห์ – เกษม วีรวงศ์ – บุญส่ง น้อยโสภณ )
ศาลจังหวัดนครสวรรค์ – นายสุเทพ ภักดิกมล
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 – นายสุพจน์ ธำรงเวียงผึ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5054/2549

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
นางสาวอังคณา จงเลิศวัฒนา กับพวก จำเลย

โจทก์ฟ้องจำเลย 2 คดี เมื่อคดีหนึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้นำโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาเรื่องก่อนบวกเข้ากับโทษคดีดังกล่าวแล้วก่อนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาคดีนี้ การที่ศาลอุทธรณ์นำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาเรื่องก่อนบวกเข้ากับโทษคดีนี้อีก จึงไม่ชอบด้วย ป.อ. 58 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3531/2549

นายนิพนธ์ ผลสุข โจทก์
การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลย

โจทก์และจำเลยท้ากันให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเฉพาะข้อบังคับของการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 ว่าจำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์หรือไม่ ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานตามข้อบังคับและต้องแพ้คดีโจทก์ไปตามคำท้า ดังนั้นการที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมีสิทธิไล่โจทก์ออกจากงานได้แม้โจทก์จะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้ว เพราะโจทก์ต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงการราชการ พ.ศ.2518 ก็ดี ที่ว่าจำเลยสั่งให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุเป็นเพราะจำเลยไม่ทราบว่า โจทก์ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ป. สอบสวน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เพราะสำคัญผิดก็ดี ล้วนเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือคำท้าทั้งสิ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ มิได้สั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนเพื่อรอผลการสอบสวนพิจารณาตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 ข้อ 6 ทวิ การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้าง สัญญาจ้างแรงงานจึงสิ้นสุดทันที และการแสดงเจตนาเลิกสัญญานี้ไม่อาจถอนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง ประกอบกับข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 ก็มิได้ให้อำนาจจำเลยที่จะสั่งลงโทษไล่ออกแก่ผู้ที่พ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานไปแล้วได้ จำเลยจึงไม่อาจสั่งลงโทษโจทก์ซึ่งพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยไปแล้วให้ออกจากงานได้
จำเลยแพ้คดีตามคำท้าและค่าเสียหายเป็นเงินที่โจทก์เรียกร้องมาในคำฟ้อง ศาลแรงงานกลางชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าเสียหายตามคำฟ้องของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2549
นางกัน ศรีสุราช โจทก์
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำเลย

โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์ฝากเงินไว้แก่จำเลย ต่อมามีบุคคลอื่นปลอมลายมือชื่อของโจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อยอมให้ถอนเงินไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินจำนวนที่ถูกถอนไปแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเงินที่ฝากไว้แก่จำเลยคืนตามสัญญาฝากทรัพย์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องถึงความประมาทเลินเล่อของจำเลยก็เพื่อแสดงว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะไม่กระทำตามหน้าที่ที่ ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม บัญญัติไว้เท่านั้น หาใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ดังที่จำเลยฎีกาไม่ สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

( ประทีป ปิติสันต์ – สมศักดิ์ เนตรมัย – สุภิญโญ ชยารักษ์ )
ศาลจังหวัดบึงกาฬ – นายพงษ์ธร เกียรติปฐมชัย
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 – นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431 – 2432/2549

นายศักดา ณรงค์ โจทก์
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กับพวก จำเลย

การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยแก่โจทก์ ยังไม่เป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ใด ๆ ของโจทก์ในฐานะพนักงานของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
คำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ที่สั่งพักงานโจทก์ เป็นคำสั่งที่ใช้อำนาจตามข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย และคำสั่งดังกล่าวมีผลกระทบถึงโจทก์โดยตรง ดังนั้น หากคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบ โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนได้
ข้อบังคับกำหนดไว้ว่า เมื่อพนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดถูกกล่าวหาและถูกสอบสวนว่ากระทำผิด หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา ถ้าผู้บังคับบัญชาของโจทก์คือจำเลยที่ 2 เห็นว่า หากให้โจทก์คงอยู่ในหน้าที่จะเป็นการเสียหายแก่ธนาคารจำเลยที่ 1 ก็ให้พิจารณาสั่งพักงานโดยต้องเสนอขออนุมัติคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 ก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย ถูกดำเนินคดีอาญา และโจทก์กระทำการขัดขวางหรือยับยั้งการสอบสวนข้อเท็จจริง หรือการสอบสวนความผิดทางวินัย เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน เป็นกรณีที่หากให้โจทก์คงอยู่ในหน้าที่จะเป็นการเสียหายแก่ธนาคาร การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้พักงานโจทก์เพื่อรอฟังผลการสอบสวนทางวินัย จึงชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

( วิชัย วิวิตเสวี – วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ – จรัส พวงมณี )
ศาลแรงงานกลาง – นายเขมภณ กิรัตน์
ศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1070/2549

พนักงานอัยการประจำศาลแขวงสุราษฎร์ธานี โจทก์
นางอุไรวรรณ แซ่เลี้ยว จำเลย

โจทก์อุทธรณ์โดยมีพนักงานอัยการผู้รักษาการแทนอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 8 รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมีสำเนาคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 235/2546 ที่มอบหมายให้อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต หรือพนักงานอัยการผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขตมีอำนาจรับรองอุทธรณ์แทนอัยการสูงสุด เมื่อพิจารณาเห็นว่า มีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยสำหรับคดีอาญาซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขตนั้น ๆ ได้ โดยเป็นคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี และ พ.ร.บ.พนักงานอัยการฯ มาตรา 15 พนักงานอัยการผู้รักษาการแทนอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 8 ตามมาตรา 18 จึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาจึงเป็นไปโดยชอบ
การกระทำความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ เป็นการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุขของครอบครัว สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย แต่จำเลยมีอายุถึง 58 ปี และโทษจำคุกที่จะต้องรับแต่ละกระทงมีกำหนดเวลาน้อยกว่าสามเดือน เห็นสมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลงอีกเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี

( พงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ – กิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์ – วิเชียร มงคล )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2549
พนักงานอัยการจังหวัดนครปฐม โจทก์
นางสาวสุทิศา พจน์มนต์ปิติ จำเลย

ความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคแรก และมาตรา 37 ผู้กระทำความผิดจะต้องเป็นเจ้าของรถ แต่ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยเป็นเจ้าของรถคันที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายจึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ มาตรา 158 (5)
( ชวลิต ตุลยสิงห์ – เกษม วีรวงศ์ – บุญส่ง น้อยโสภณ )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 161/2549
พนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานี โจทก์
นางมาลี ธูปกระจ่าง จำเลย

การยกโทษจำคุกตาม ป.อ. มาตรา 55 เป็นดุลพินิจแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร เพียงแต่โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดต้องเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน โดยไม่คำนึงว่าจะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ และผู้นั้นจะเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนหรือไม่ก็ตาม
จำเลยเคยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมาก่อน และมากระทำความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก แสดงว่าจำเลยมิได้เข็ดหลาบและมิได้เกรงกลัวต่อโทษตามกฎหมาย ศาลจึงไม่ยกโทษจำคุกให้จำเลย

( เกรียงชัย จึงจตุรพิธ – ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช – มานัส เหลืองประเสริฐ )

ศาลจังหวัดปทุมธานี – นายทนงศักดิ์ ดุลยกาญจน์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 – นายนิยุต สุภัทรพาหิรผล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8656/2548

พนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา โจทก์
นายสุระชาติ เชื้อกุณะ จำเลย

ตามบทบัญญัติของ ป.อ. มาตรา 56 มิได้ยกเว้นในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเคยต้องรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลทหาร ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า จำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ไม่อาจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น จึงเป็นไปโดยชอบของกฎหมายแล้ว

________________________________
( องอาจ โรจนสุพจน์ – เฉลิมศักดิ์ บุญยงค์ – สถิตย์ อรรถบลยุคล )
ศาลจังหวัดนครราชสีมา – นายสมบูรณ์ ศรีมณี
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 – นายเพรา โพอุทัย

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5186/2548
บริษัทเจ้าพระยาประกันภัย จำกัด โจทก์
บริษัทเซ็นคาร์ จำกัด จำเลย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ที่กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยื่นคำร้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเกิดจากมูลแห่งข้ออ้างนั้นใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบทุกกรณีไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือหลังจากศาลพิพากษา ดังนั้นคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีที่สั่งโดยผิดระเบียบ โดยอ้างว่าการที่ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนคดีมายื่นต่อศาลโดยให้เหตุผลว่าป่วย ถือว่าโจทก์มาศาลและแจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบแล้ว ไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งจำหน่ายคดีเพราเหตุโจทก์ไม่มาศาล จึงอยู่ในบังคับแห่งระยะเวลา 8 วัน ที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว

( สมชาย จุลนิติ์ – มานะ ศุกวิริยกุล – ชาลี ทัพภวิมล )
แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5089/2548
พนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี โจทก์
นายบุญรวย แซ่ซี่ จำเลย

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ก่อนคดีนี้ จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 20 ปี ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้อาวุธปืนและยานพาหนะ เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4881/2536 ของศาลชั้นต้น ปัจจุบันจำเลยอยู่ในระหว่างการพักการลงโทษและจะพ้นโทษและพ้นจากการพักการลงโทษในวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 อันเป็นวันภายหลังวันที่ 10 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ พ.ร.บ. ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 จะมีผลบังคับใช้กับจำเลยได้ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยยังคงเป็นผู้ที่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 56 ที่ศาลฎีกาจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้

( ชวลิต ตุลยสิงห์ – เกษม วีรวงศ์ – สุรพล เอกโยคยะ )

ศาลจังหวัดกาญจนบุรี – นายประคอง ศรีสุวรรณ
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 – นายธงชัย จันทร์วิรัช

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2548

พนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคาม โจทก์
นายประยงค์ จันธิราช จำเลย

โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยขับรถด้วยความประมาท เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส และผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 4 ได้รับอันตรายแก่กาย โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่นอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 43 (Cool แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสาม ได้ ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

( ชวลิต ตุลยสิงห์ – เกษม วีรวงศ์ – สุรพล เอกโยคยะ )

ศาลจังหวัดมหาสารคาม – นายเจตน์ รอดอ่อน
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 – นายชัยวุฒิ โลหชิตรานนท์

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2319/2548
พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี โจทก์
นายบัญชา เฟื่องฟูดำรงชัย โจทก์ร่วม
นายสหธรณ์ หนูลี จำเลย

ฟ้องโจทก์ระบุว่าจำเลยขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับรถ และไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ และขับรถในขณะเมาสุราและโดยประมาทพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ที่ ช. ขับ และพุ่งเข้าชนกำแพงรั้วบริษัท ท. เป็นเหตุให้นาย ช. ได้รับอันตรายสาหัส และนางสาว ต. ซึ่งนั่งโดยสารมาในรถที่จำเลยขับถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291, 300 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157, 160 พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42, 66 พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 7, 37 แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นาย บ. บิดานาย ช. ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ โดยมิได้ระบุว่าอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานใด แต่ก็พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้นาย บ. เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 เท่านั้น และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์ร่วมจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ลดโทษและไม่รอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมและพิพากษาจำคุกจำเลยมานั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อโจทก์ร่วมต้องห้ามอุทธรณ์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลย

( ชวลิต ตุลยสิงห์ – เกษม วีรวงศ์ – สุรพล เอกโยคยะ )

ศาลจังหวัดชลบุรี – นายสิงห์พิทักษ์ ละมูลมอญ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 – นางสุรางคณา กมลละคร

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2115/2548

พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี โจทก์
นายไพทูลย์ เชิดไชย จำเลย

ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก บัญญัติว่า เมื่อความปรากฏแก่ศาลเองหรือความปรากฏตามคำแถลงของโจทก์หรือเจ้าพนักงานว่า ภายในเวลาที่ศาลกำหนดตาม มาตรา 56 ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาได้กระทำความผิดอันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดนั้น ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกำหนดโทษที่รอการกำหนดไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง หรือบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังแล้วแต่กรณี ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโทษที่รอไว้ในคดีก่อนอันจะนำมาบวกกับโทษในคดีหลังนั้น ความผิดในคดีหลังจะต้องกระทำภายในระยะเวลาระหว่างรอการลงโทษตามที่คดีก่อนกำหนดไว้ คดีก่อนคือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 117/2547 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2547 แต่คดีนี้จำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2546 ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 117/2547 ของศาลชั้นต้น การกระทำความผิดของจำเลยคดีหลังนี้ จึงมิใช่กระทำภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษตามความใน ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก จะนำโทษในคดีก่อนที่รอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับคดีนี้ไม่ได้ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

( ปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์ – รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ – พรเพชร วิชิตชลชัย )

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0999170039

 

Facebook Comments