Home กฎหมาย-ฎีกาน่ารู้ รวมคำพิพากษาฎีกา สู้คดีบริษัทประกันภัย

รวมคำพิพากษาฎีกา สู้คดีบริษัทประกันภัย

53151

รวมคำพิพากษาฎีกา สู้คดีบริษัทประกันภัย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15139/2551

โจทก์บรรยายฟ้องโดยตั้งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ บ. ขับและถูกจำเลยกระทำละเมิด โดยโจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมรถยนต์ไปเป็นเงิน 41,526.97 บาท พร้อมดอกเบี้ย จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยผู้ทำละเมิด เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม กำหนดหลักเกณฑ์ให้ศาลปฏิบัติในการกำหนดจำนวนเงินตามคำขอบังคับของโจทก์ ดังนี้ (1) ในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอน ให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็นแทนการสืบพยาน และ (2) ในกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็น การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 41,526.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น เป็นการอ้างเหตุว่าโจทก์รับช่วงสิทธิมาจากผู้เอาประกันภัยซึ่งถูกจำเลยกระทำละเมิด อันเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องมาจากเรื่องละเมิดและเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คำขอบังคับของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่ไม่อาจกำหนดจำนวนเงินได้โดยแน่นอน ตามมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2) ซึ่งบัญญัติให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็น หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอนตามมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (1) ที่ให้อำนาจศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งพยานเอกสารตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็นแทนการสืบพยานไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2548 ว่าเป็นกรณีโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอน อนุญาตให้โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยาน จึงเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2) เป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องพิจารณาคดีและการพิจารณาพยานหลักฐาน อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้เพิกถอนคำพิพากษาและคำสั่งของศาลชั้น ต้นได้ แม้โจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ก็ตาม ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 243 (2), 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6235/2551

จำเลยที่ 1 เคยถูกพนักงานอัยการประจำศาลแขวงเป็นโจทก์ฟ้องในความผิดฐานขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ซึ่งความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของรถยนต์คันที่ถูกจำเลยขับมาชน จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีของศาลแขวง เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญาของศาลแขวง ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาของศาลแขวง จึงไม่ผูกพันโจทก์
เหตุสุดวิสัยจะต้องเป็นเรื่องที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้จะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วก็ตาม การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าลูกปืนล้อรถพ่วงด้านขวาแตกเป็นเหตุให้ล้อรถพ่วงหลุด รถยนต์บรรทุกจึงเสียการทรงตัวและชนถูกรถยนต์คันที่เอาประกันภัยกับโจทก์ไว้นั้น กรณียังไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเพราะผู้ใช้งานรถต้องตรวจตราอุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวรถซึ่งย่อมมีทั้งอุปกรณ์ที่อยู่ภายนอกและภายใน อุปกรณ์บางชิ้นตรวจสอบได้ด้วยสายตา บางชิ้นเสื่อมสลายไปตามสภาพการใช้งาน ซึ่งล้วนแต่ต้องตรวจตราจากผู้ใช้งานทั้งสิ้นไม่ว่าจะตรวจสอบเองในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือโดยผู้อื่นที่มีหน้าที่ก็ตาม จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าลูกปืนล้อรถเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ภายใน ไม่ใช่หน้าที่ตรวจสอบของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงผู้ขับเท่านั้นไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3506/2551

แม้จะได้ความว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย ที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันและไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ล้วนมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวทั้งหมด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวนความเสียหายโดยจะแบ่งความรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดดังกล่าวเช่นกัน จำเลยที่ 3 จะแบ่งความรับผิดต่อโจทก์ดังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาไม่ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาในข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 3 รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินไม่เกิน 250,000 บาท รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 วรรคสาม บัญญัติห้ามมิให้คิดเฉพาะค่าสินไหมทดแทนเท่านั้นที่ต้องไม่เกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมศาลเป็นเรื่องของคู่ความในคดีที่จะต้องรับผิดในการสู้ความหรือดำเนินคดีของคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเป็นความรับผิดต่างหากจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2582/2551

ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ก่อเหตุ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2544 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้ไปตามถนนด้วยความประมาท เป็นเหตุให้รถชนทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เห็นว่า แม้โจทก์แนบตารางกรมธรรม์ประกันภัยไว้ท้ายคำฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้ในฐานะใด หรือมีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับ จ. ผู้เอาประกันภัย อันจะเป็นเหตุให้ ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีโอกาสทราบได้เลยว่า ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอย่างไร และไม่อาจต่อสู้คดีของโจทก์ได้ การบรรยายฟ้องในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นสาระสำคัญ มิใช่รายละเอียดที่สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา เพราะโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 คำฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2454/2551

โจทก์ประกอบกิจการให้บริการซ่อมแซมรถยนต์ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้า ส่วนจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำการซ่อมรถยนต์ที่จำเลยได้รับประกันภัยไว้ และรถยนต์คู่กรณีที่ถูกรถยนต์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยกระทำละเมิด โดยจำเลยจะเป็นผู้จ่ายเงินค่าซ่อมรถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์ทุกกรณีโดยไม่มีเงื่อนไข ต่อมาจำเลยนำรถยนต์ที่ได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยและรถยนต์คู่กรณีมาให้โจทก์ทำการซ่อมแซม โจทก์ได้ทำการซ่อมและส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่เจ้าของรถยนต์แล้ว แต่จำเลยยังคงค้างชำระหนี้ค่าซ่อม การที่โจทก์เรียกเอาค่าจ้างซ่อมรถยนต์ของผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลย จึงเป็นการเรียกเอาค่าจ้างหรือค่าแห่งการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลย ซึ่งเป็นลูกหนี้ กรณีต้องด้วยข้อยกเว้นไม่อยู่ในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามความในตอนท้ายของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2110/2551

สิทธิในการได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2533 มาตรา 20 เป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้ประสบภัยจะได้รับเพื่อเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นโดยเจ้าของรถต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย โดยประกันภัยกับบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยและต้องเสียเบี้ยประกันภัย กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสำหรับจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย ส่วนสิทธิของผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เกิดจากการเป็นผู้ประกันตนและออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 46 สิทธิของผู้ประสบภัยและสิทธิของผู้ประกันตนจึงเป็นสิทธิตามกฎหมายต่างฉบับ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยและกองทุนประกันสังคมก็แตกต่างกัน การก่อให้เกิดสิทธิจากเบี้ยประกันภัยกับเงินสมทบและการจ่ายเงินแก่ผู้มีสิทธิได้รับแตกต่างกันไปตามกฎหมายแต่ละฉบับ กฎหมายทั้งสองฉบับไม่มีบทบัญญัติมิให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินตามกฎหมายอื่น แล้วมารับค่าเสียหายเบื้องต้นหรือประโยชน์ทดแทนอีก

โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุถูกรถจักรยานยนต์ชน เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล ม. อันเป็นสถานพยาบาลที่จำเลยกำหนด แม้โรงพยาบาล ม. เรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นค่าเสียหายเท่าที่จ่ายจริงจากบริษัท ว.ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล ม. ได้รับจึงเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4 แต่จำเลยยังมิได้ให้ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเป็นค่าบริการทางการแพทย์ (ค่ารักษาพยาบาล) จากกองทุนประกันสังคม ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 58, 59 แล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2551

จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหัวลากและรถพ่วง ในทางการที่จ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไปจอดบริเวณไหล่ทางในเวลากลางคืนไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นเหตุให้ ส. ขับรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เฉี่ยวชนได้รับความเสียหาย โจทก์คงมี ส. เบิกความกล่าวอ้างลอยๆว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เปิดไฟของรถยนต์ไว้ โดยไม่มีพยานอื่นมาสนับสนุน จึงมีน้ำหนักน้อยที่จะรับฟัง ประกอบกับในคดีอาญา ส. ผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ก็ให้การรับสารภาพว่า ขับรถยนต์โดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 จนได้รับความเสียหาย และมีผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำสืบจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ คำเบิกความของพนักงานสอบสวนที่ว่าได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ทำแผนที่เกิดเหตุ และให้ความเห็นจากการตรวจที่เกิดเหตุ และแผนที่เกิดเหตุประกอบกันว่า เหตุเกิดเพราะความผิดของฝ่ายใด มิใช่พยานบอกเล่า รับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 298/2551

น. ได้ขับรถที่โจทก์รับประกันภัยไปตามถนน โดยมีจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะไปในทิศทางเดียวกันตามหลังรถที่โจทก์รับประกันภัยโดยความเร็วสูง และด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชะลอความเร็วของรถและหยุดรถได้ทัน เนื่องจากรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ชะลอความเร็วตามรถคันหน้า เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับมาพุ่งชนท้ายรถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ทำให้รถคันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ได้ทำการซ่อมรถคันที่รับประกันภัยไว้ให้อยู่ในสภาพดี และได้จ่ายเงินค่าอะไหล่และค่าซ่อมไป โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหาย
บันทึกข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดยอมรับผิดต่อ น. ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ว่า จะนำรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายไปซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีดังเดิม แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะยอมรับผิดชอบในค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บด้วย แต่ก็ไม่มีข้อตกลงที่เป็นการสละสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายส่วนอื่นที่เจ้าของรถยนต์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ได้อีก ข้อตกลงดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850

จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปติดต่อธุรกิจการค้าให้แก่จำเลยที่ 2 การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีใบเสร็จรับเงินค่าซ่อมรถมาแสดงนั้น เห็นว่า โจทก์นำรถยนต์คันเกิดเหตุไปซ่อมจนรถอยู่ในสภาพเดิม และโจทก์ออกใบสั่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนรถยนต์กับใบเสร็จรับเงินและปลดหนี้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุรับเงินไปเรียบร้อยแล้ว ถือว่าโจทก์ได้ชำระเงินค่าซ่อมรถให้แก่อู่ซ่อมรถแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง

 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments