Home คดีแพ่ง การขยายระยะเวลาบังคับคดีสามารถทำได้หรือไม่

การขยายระยะเวลาบังคับคดีสามารถทำได้หรือไม่

36426

คำถาม  การขยายระยะเวลาบังคับคดีสามารถทำได้หรือไม่

คำตอบเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5091/2552

โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำนองที่พิพาทของจำเลยเพื่อบังคับคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องและให้จำเลยมีชื่อในทะเบียนที่ดินแทน และผู้ร้องฟ้องจำเลยให้โอนที่ดินคืนผู้ร้อง ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์เพื่อรอฟังผลคดีที่ผู้ร้องฟ้องจำเลย ซึ่งคู่ความไม่ได้โต้แย้งคำสั่ง คำสั่งของศาลย่อมเป็นที่สุด ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพิ่มเติม เจ้าพนักงานบังคับคดียกคำขออ้างว่าโจทก์ขอยึดพ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ไม่อาจบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีและให้โจทก์บังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยต่อไป ศาลชั้นต้นยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์เพียงว่าโจทก์มีสิทธิร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพิ่มเติมได้หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพิพาทต่อไปเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์ ทั้งเป็นการผิดขั้นตอนของการวินิจฉัยที่ต้องเป็นไปตามลำดับชั้นศาล เนื่องจากคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้องยังมิได้ผ่านการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีจากศาลชั้นต้นแต่อย่างใด
ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยตกลงชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นบังคับชำระหนี้ คำพิพากษากำหนดขั้นตอนการบังคับคดีโดยมีลำดับก่อนหลังไว้ชัดแจ้งโดยต้องบังคับจำนองก่อน เมื่อได้เงินไม่พอชำระหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีการบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนอง โจทก์ก็ย่อมไม่อาจขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพิ่มเติมได้ เพราะเป็นการบังคับคดีเกินกว่าข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม
การร้องขอให้บังคับคดีต้องกระทำภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาได้โดยคู่ความไม่จำเป็นต้องร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23
เมื่อการบังคับทรัพย์จำนองไม่อาจกระทำได้เนื่องจากผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์จนศาลมีคำสั่งให้รอการพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์ไว้ก่อน ทำให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยภายในกำหนดของจำเลยภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 กรณีย่อมถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ดังนั้น หากมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองภายหลังการยึดทรัพย์จำนองเกิน 10 ปี แล้วขายได้เงินไม่พอชำระหนี้ และโจทก์ขอบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพิ่มเติมตามเงื่อนไขที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม ศาลย่อมมีอำนาจขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จะยื่นคำขอหรือไม่ก็ได้

สรุป ระยะเวลาบังคับคดีตามมาตรา 271 นี้ ถือเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กรณีหากมีเหตุอันสมควรและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลมีอำนาจสั่งให้ขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปได้ เพราะฉะนั้นเจ้าหนี้จะเบากังวลหากกรณีมีเหตุอันสมควร

มัปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773

ทนายกฤษดา

Facebook Comments