Home คดีแพ่ง ที่ดิน (ส.ป.ก.) สามารถซื้อขายกันได้หรือไม่ และหากไม่ได้ผู้ซื้อมีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนหรือไม่ อัปเดต 2564

ที่ดิน (ส.ป.ก.) สามารถซื้อขายกันได้หรือไม่ และหากไม่ได้ผู้ซื้อมีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนหรือไม่ อัปเดต 2564

304530

ที่ดิน (ส.ป.ก.) สามารถซื้อขายกันได้หรือไม่ และหากไม่ได้ผู้ซื้อมีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนหรือไม่ อัปเดต 2564

ประเด็นคำถามที่เกิดปัญหา และความวุ่นวายอย่างมากในสังคมคือ ประชาชนผู้ที่ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ไม่ทราบว่า ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 คืออะไร และสามารถซื้อขายกันได้หรือไม่ นอกจากนี้หากซื้อขายไม่ได้มีสิทธิฟ้องเรียกเงินและดอกเบี้ยคืนหรือไม่ ในวันนี้ทีมงานทนายกฤษดา จะขออธิบายความหมาย พร้อมทั้งบอกหลักการและวิธีแก้มีอย่างไร ไปชมกัน

 

ความหมายของที่ดิน ส.ป.ก.ในปัจจุบัน

ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 คือเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เริ่มขึ้นเมื่อมีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มีหลักการสำคัญว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน

คำถามประการแรกที่ว่าที่ดิน ส.ป.ก. สามารถซื้อขายได้หรือไม่

มีบทบัญญัติตาม พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ตามมาตรา ๓๙ให้คำตอบเอาไว้ พร้อมกันนี้ทางทีมงานขออนุญาตอธิบายพร้อมแนบคำพิพากษาศาลฎีกาประกอบ

มาตรา ๓๙ ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทําการ แบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนีให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2293/2552

พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้จะมีการซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยกันจริง นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยก็เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150ในเขตปฏิรูปที่ดิน บุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองจากผู้ที่ได้รับการจัดการ เพราะหากผู้ได้รับการจัดสรรละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองจะตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดสรรให้เกษตรกรที่เหมาะสมต่อไป และ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 37 บัญญัติห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรือสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว

สรุปในคำถามแรก คือที่ดิน ส.ป.ก. ไม่สามารถซื้อขายได้เพราะเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง เป็นดมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150

ในคำถามประการถัดมา เมื่อการซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก ขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้งนั้น ผู้จะซื้อมีสิทธิเรียกเงินคืนหรือไม่

การซื้อขายที่เป็นโมฆะเพราะวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายนั้น ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกเงินที่ได้ชำระแก่ผู้ขายหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๑๑ บัญญัติว่า “บุคคลใด ได้กระทำการ เพื่อชำระหนี้ เป็นการอันฝ่าฝืน ข้อห้ามตามกฎหมาย หรือ ศีลธรรมอันดี ท่านว่า บุคคลนั้น หาอาจจะ เรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่.”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2542

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท(ซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน)ระหว่างโจทก์กับจำเลย มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ซึ่งตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 การที่โจทก์ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้จำเลยย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย กรณีต้องด้วย ป.พ.พ.มาตรา411 ที่โจทก์ไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ดังนี้หนังสือสัญญากู้เงินฉบับพิพาทที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาที่จำเลยตกลงยอมรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะด้วยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์

สรุปคือผู้ซื้อไม่สามารถฟ้องเรียกเงินคืนได้ เพราะเป็นการชำระหนี้โดยฝ่าฝืนกฎหมายโดยชัดแจ้ง ผู้ขายไม่ต้องคืนทรัพย์ตามมาตรา 411

กรณีดังกล่าวจะมีทางแก้เช่นไร ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในคดี หากพฤติการณ์และข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ซื้อไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูป หรือมีข้อกำหนดห้ามโอน 

สรุปทางแก้ไข หากผู้ซื้อไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูป หรือมีข้อกำหนดห้ามโอน  จะไม่เข้ามาตรา 411 ผู้ขายจะต้องคืนเงินที่รับไว้ให้แก่ผู้ซื้อ

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

 

Facebook Comments