ในความไว้เนื้อเชื่อใจ ประกอบกับความประมาทเลินเล่อ ทั้งเพื่อน สนิท คู่รักสามีภรรยา หรือแม้กระทั้งตัวแทนนายหน้าค้าที่ดิน ที่ใช้ความสนิทชิดเชื้อเหลืออาจจะเป็นด้วยความเผลอเลอ ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจเปล่า แล้วต่อมามีผู้นำไปกรอกข้อความและไปขายฝากที่ดินหรือทำนิติกรรมนั้น เจ้าของที่ดินสามารถฟ้องเพิกถอนการขายฝากดังกล่าวได้หรือไม่
ประเด็นคำถาม หากลงชื่อลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเปล่า แล้วมีผู้นำไปกรอกข้อความเพื่อไปขายฝากที่ดิน เจ้าของที่ดินฟ้องเพิกถอนได้หรือไม่ ทีมงานทนายกฤษดา ขออนุญาตอธิบายประกอบคำพิพากษาศาลฎีกาดังนี้
เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4708/2533
ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2ที่ 3 รับซื้อฝากที่พิพาทโดยทุจริตแต่อย่างใด โจทก์อ้างเพียงว่า สัญญาขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นโมฆะ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจขายฝากที่พิพาทเท่านั้น จำเลยที่ 2ที่ 3 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า รับซื้อฝากที่พิพาทไว้โดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6
การที่ตัวการลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความไว้ ภายหลังจำเลยที่ 1 โดยทุจริตได้นำใบมอบอำนาจดังกล่าวไปกรอกข้อความแล้วขายฝากที่พิพาทให้จำเลยที่ 2ที่ 3 เป็นกรณีเข้าลักษณะความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 822 ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทนคือจำเลยที่ 1 ทำการเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่า การอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน ตัวการจึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของตัวการย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากดังกล่าว
สรุปศาลวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องตัวแทนทำเกินอำนาจที่ตัวการมอบหมาย และไม่ปรากฎว่าผู้รับซื้อฝากทุจริตในทางนำสืบ มีผลให้สัญญาขายฝากสมบูรณ์ ผูกพันเจ้าของผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th