หลักการนับอายุความในคดีอาญาอับเดต 2564
ถือเป็นปัญหาระดับชาติมาแล้ว สำหรับเรื่องอายุความ ที่ฟ้องไม่ทันบ้าง ขาดอายุความ เป็นส่วนหนึ่งของคดียกฟ้องบ้าง ซึ่งโดยเฉพาะในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวนั้น ยิ่งเป็นปัญหาที่พบได้มาก ก่อนอื่นขอพาไปรู้จักก่อนว่าคดีใดบ้างเป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว คดีใดบ้างเป็นอาญาแผ่นดิน
ความผิดอาญาแผ่นดิน
คือ ความผิดที่หากมีการกระทำแล้วนอกจากจะมี ผลกระทบต่อผู้ที่ถูกกระทำโดยตรงแล้วยังมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอีกด้วย ดังนั้น รัฐจึงต้องเข้าดำเนินการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แม้ผู้ที่ถูกกระทำนั้น จะไม่ติดใจเอาความหรือดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อเป็น การป้องกันสังคมโดยรวม
ความผิดอันยอมความได้
คือ ความผิดที่หากมีการกระทำแล้วมีผลกระทบ ต่อผู้ที่ถูกกระทำโดยตรงเท่านั้น และไม่มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ดังนั้น เมื่อผู้ที่ ถูกกระทำไม่ติดใจเอาความหรือดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไปแล้ว รัฐก็ไม่จำเป็น ต้องเข้าไปดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอีกต่อไป นอกจากนี้ประมวลกฎหมาย ลักษณะอาญาของไทยในอดีตได้มีการกำหนดนิยามคำว่า “ความผิดต่อส่วนตัว” ไว้ในมาตรา ๖ (๗) ว่า “ความผิดต่อส่วนตัว นั้น ท่านหมายความว่า บรรดาความผิด ที่จะฟ้องขอให้ศาลพิจารณาทางอาญาได้แต่เมื่อผู้ที่ต้องประทุษร้ายหรือเสียหายนั้น ได้มาร้องทุกข์ขอให้ว่ากล่าว”
ข้อพิจารณาว่าความผิดใดเป็นความผิดอันยอมความได้
ความผิดที่กฎหมายถือว่าเป็นความผิดอันยอมความได้นั้น ได้มีกรอบความคิด ในทางนิติบัญญัติว่า “ความผิดอันยอมความได้” ควรมีลักษณะ ดังนี้
๑) เป็นความผิดที่มีความเป็นอาชญากรรมน้อย
๒) เป็นความผิดที่มีคุณธรรมทางกฎหมายที่เป็นเรื่องส่วนตัวอย่างมากที่ พึงเคารพในเจตจำนงของผู้เสียหายหรือมีคุณธรรมทางกฎหมายที่เป็นส่วนบุคคลโดยแท้
๓) เป็นความผิดที่มุ่งประสงค์จะคุ้มครองผู้เสียหายอย่างแท้จริง
ซึ่งในรายละเอียดทีมงานขออนุญาตอธิบายในบทความลำดับถัดไป
อายุความ ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องอายุความคดีอาญา
ของความผิดทั้ง ๒ ประเภทดังกล่าวไว้ดังนี้
๑) ความผิดอาญาแผ่นดิน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ ได้กำหนดอายุความการฟ้อง คดีอาญา ซึ่งเป็น “ความผิดอาญาแผ่นดิน” ไว้ว่า ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิด มายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดถือว่าคดีนั้นขาดอายุความ (๑) ๒๐ ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก ๒๐ ปี (๒) ๑๕ ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า ๗ ปี แต่ยังไม่ถึง ๒๐ ปี (๓) ๑๐ ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า ๑ ปี ถึง ๗ ปี (๔) ๕ ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า ๑ เดือน ถึง ๑ ปี (๕) ๑ ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ เดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น อนึ่ง ถ้าได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว ผู้กระทำ ความผิดหลบหนีหรือวิกลจริต และศาลสั่งงดการพิจารณาไว้จนเกินกำหนดดังกล่าวแล้ว นับแต่วันที่หลบหนีหรือวันที่ศาลสั่งงดการพิจารณา ก็ให้ถือว่าเป็นอันขาดอายุความ เช่นเดียวกัน
๒) ความผิดอันยอมความได้ สำหรับความผิดอันยอมความได้นั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖ ได้กำหนดอายุความการฟ้องคดีอาญาไว้โดยมีกำหนดอายุความเดียวกันกับอายุความ ฟ้องคดีอาญา ซึ่งเป็น “ความผิดอาญาแผ่นดิน” ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เสียหายจะต้อง มีการร้องทุกข์หรือฟ้องคดีต่อศาลภายใน ๓ เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัว ผู้กระทำความผิด ถ้าระยะเวลาได้พ้น ๓ เดือนแล้ว แต่ผู้เสียหายยังไม่ได้ร้องทุกข์หรือ ฟ้องคดีต่อศาลแล้ว กฎหมายถือว่าอายุความในคดีนั้นขาดทันที
หลักการนับนั้นเป็นอย่างไร เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยเอาไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2550
กฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งกำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 และจะครบกำหนด 3 เดือน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรกจึงไม่ขาดอายุความ
ทนายกฤษดาขอสรุปหลักการนับง่ายๆเลยดังนี้
1.นับวันชนวัน
2.นับเดือนชนเดือน
3.นับปีชนปี
หากรู้หลักการและคดีแต่ละประเภทแล้วย่อมเป็นเรื่องง่ายๆ มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th