การซื้อขายที่ดินมือเปล่านั้น ปัจจุบันมีมากมายในบางรายก็รู้ บางรายก็ไม่รู้ ตามกฎหมายแล้ว ที่ดินที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน เป็นที่ดินที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ คงมีเพียงสิทธิครอบครองแล้ว ตามกฎหมายถือว่าเป็นที่ดินมือเปล่าทั้งสิ้น
คำถาม ที่ดิน ส.ค.1 ,ภ.บ.ท.5 ,น.ส.3,น.ส.3 ก ถือเป็นที่ดินมือเปล่าหรือไม่
ดังนี้ทีมงานทนายกฤษดา ขอให้คำตอบว่า ที่ดินมีหลักฐานเป็นแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ที่ดินมีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) รวมทั้งที่ดินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3,น.ส.3 ก) ตามกฎหมายแล้วถือเป็นที่ดินมือเปล่าทั้งสิ้นเพราะไม่มีเอกสารสิทธิที่เป็นโฉนดที่ดิน มีเพียงสิทธิครอบครอง
การซื้อขายจำเป็นต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456หรือไม่
หลักกฎหมาย มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไซร้ ท่านว่าเป็นโมฆะ
แม้การซื้อขายที่ดินมือเปล่าจะตกเป็นโมมฆะเพราะไม่ได้ไปจดทเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 ก็ตาม แต่ถ้าผู้ขายได้ส่งมอบที่ดินให้ผู้ซื้อเข้าครอบครองแล้ว ผู้ซื้อก็ย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1377 ,1378 ผู้ขายย่อมหมดสิทธิครอบครองที่ดินนั้น ไม่มีสิทธินำไปขายกับบุคคลอื่นอีก
คำพิากษาฎีกาที่เคยวินิจฉัยเรื่อง ส.ค.1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779/2535
สัญญาซื้อขายที่ดิน ส.ค.1 มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 แต่ผู้ขายได้ส่งมอบที่ดินให้ผู้ซื้อเข้าครอบครองแล้วผู้ซื้อย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว สัญญาซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆะ ผู้ซื้อจึงไม่สามารถนำมาอ้างเป็นเหตุฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาซื้อขายจากผู้ขายได้
คำพิากษาฎีกาที่เคยวินิจฉัยเรื่อง น.ส.3
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจที่ 2156/2555
จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของตนที่ได้รับการยกให้จาก ร. มิใช่การครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่น อันแสดงว่า ร. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยครอบครองแล้วโดยโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะที่ ร. แสดงเจตนายกที่ดินพิพาทให้จำเลยนั้น ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิจึงมีเพียงสิทธิครอบครอง การที่ ร. ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แม้ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 525 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ที่ดินพิพาทมีแต่สิทธิครอบครอง จึงถือได้ว่า ร. สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทต่อไป เมื่อจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1377 และ 1378 อันเป็นการได้สิทธิครอบครองตามกฎหมาย การออกโฉนดที่ดินพิพาทจัดทำโดยทางราชการ ออกให้แก่ ร. ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ฉบับเดิม แม้ความจริง ร. ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้วขณะออกโฉนดที่ดินก็หาทำให้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของจำเลยเสียไปไม่ ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของ ร. ที่จะตกทอดแก่ทายาทอีกต่อไป
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th