ข้อเท็จจริง
เรื่องเกิดจากทางผมออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงให้แก่ลูกค้า มูลค่า 40000 บาท จำนวนสองใบ รวมเป้นยอดเงิน 80000 บาท แต่ไม่สามารถหาเงินมาชำระตามยอดเช็คที่ระบุไว้ได้ โดยมีการพยายามติดต่อกับเจ้าหนี้เพื่อผ่อนชำระไปแล้ว 10000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร แต่เจ้าหนี่ปฎิเสธยอดเงินนั้น แล้วทำการฟ้องศาล มีหมายเรียกไต่สวนมูลฟ้อง มาที่บ้านแล้ว
ประเด็นคำถาม
ผมต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง จะรับสารภาพ และต้องการจะไกล่เกลี่ย ผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน ซึ่งเจ้าหนี้ได้ดำเนินคดีเป็นความผิดทางอาญา ถ้าผมชำระไม่ครบ จะถูกลงทาจำคุกไหมครับ
และอยากทราบแนวการดำเนินคดีนี้ว่าต้องติดคุกไหม ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เมื่อได้รับหมายเรียกดังกล่าว
ข้อกฎหมาย
พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534
มาตรา 4 ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตาม กฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้ เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงิน ตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่
เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต เมื่อได้ มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงิน ตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
มาตรา 5 ความผิดตาม มาตรา 4 เป็นความผิดอันยอมความได้
มาตรา 6 การควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความผิดตาม พระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง แต่ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาล สั่งปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันแต่ไม่มีหลักประกันหรือ มีประกันและหลักประกันไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนเงินตามเช็ค
มาตรา 7 ถ้าผู้กระทำความผิดตาม มาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็ค แก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือ บอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำ ความผิดตาม มาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมี คำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา
มาตรา 8 ถ้าจำนวนเงินในเช็คแต่ละฉบับหรือหลายฉบับรวมกัน ไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งได้ การฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินตามเช็คนั้นจะรวมฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง
คำแนะนำ
ในกรณีของผู้ร้องนั้น ตามข้อเท็จจริง โดยสรุป เป็นเรื่องที่ผู้ร้องออกเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าให้ลูกค้า 2 ฉบับๆละ 40,000 บาท เป็นเงิน 80,000 บาท แต่เมื่อลูกค้านำเช็คไปขึ้นเงิน ธนาคารปฎิเสธการชำระเงิน หรือเรียกว่าเช็คเด้ง ไม่สามารถชำระหนี้ตามเช็ค 2 ฉบับบดังกล่าวได้ แม้ผู้ร้องจะได้ผ่อนการชำระหนี้ โดยการนำเงินไปใส่บัญชีธนาคารลูกหนี้ 10,000 บาท ก็ตาม เพื่อขอไกล่เกลี่ย ขอผ่อนชำระเป้นรายเดือน แต่ลูกค้าไม่ยอมไกล่เกลี่ย ได้ดำเนินการให้ทนายความ ยื่นคำฟ้องต่อศาล เป็นคดีว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เป็นคดีอาญาที่เป็นความผิดอันยอมความได้ สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยได้ ถ้ารับสารภาพและชำระหนี้ให้ลูกค้า ผู้ร้องก็ไม่ถูกลงโทษจำคุก ส่วนการเตรียมตัวไปศาล ก็ไปศาลตามวัน เวลาที่กำหนดไว้ในหมายศาลนั้น และที่สำคัญควรหาเงินไปชำระหนี้บางส่วนให้แก่ลูกค้าด้วย เพื่อสะดวกในการขอเจรจาไกล่เกลี่ย ขอผ่อนชำระหนี้ หนี้ดังกล่าว เพราะจะทำให้เจรจาง่ายขึ้น และถ้าคู่ความตกลงกันได้ คู่ความก็สามารถทำสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นศาลต่อไป