Home คดีแพ่ง ผัวมีเมียน้อย ฟ้องชู้ ไม่ฟ้องหย่าทำอย่างไร?

ผัวมีเมียน้อย ฟ้องชู้ ไม่ฟ้องหย่าทำอย่างไร?

14703

คำถาม

ผัวมีเมียน้อย ฟ้องชู้ไม่ฟ้องหย่าทำอย่างไร มัดเด็ดเมียหลวง เอาคืนแบบแสบทั้งตัวและหัวใจ ทำอย่างไรไปดูกัน

ชายหรือหญิงฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายหรือหญิงอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสองโดยไม่ฟ้องหย่า เป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัวหรือไม่?

ศึกษาวิเคราะห์จากคำพิพากษาฎีกาที่ 7070/2554
ข้อเท็จจริง (ให้อ่านตัวบทกฎหมายทุกครั้งที่มีการอ้างถึงเพื่อประสิทธิภาพในการทำความเข้าใจ)

1. ส. เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ สิบตำรวจเอก ณ. มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน และพักอาศัยอยู่ที่ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น สิบตำรวจเอก ณ. รับราชการอยู่ จ. อุดรธานี ตั้งแต่ปี 2542 ล. ประกอบอาชีพค้าขายโดยเปิดร้านอาหารตั้งอยู่ตรงข้ามที่ทำงานของ สิบตำรวจเอก ณ. และ ล. มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 61506 เนื้อที่ 1 ไร่ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2548 ล. จดทะเบียนให้สิบตำรวจเอก ณ. เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวและในวันเดียวกัน ล. กับ สิบตำรวจเอก ณ. ได้ร่วมกันจำนองที่ดินไว้แก่ธนาคาร อ. เพื่อเป็นประกันเงินกู้ของ ล. และสิบตำรวจเอก ณ. หลังจากธนาคารจ่ายเงินกู้ให้ ล. งวดแรก 40,000 บาท ส. มีหนังสือแจ้งธนาคาร อ. ให้ระงับการกู้ยืมเงินของ ล. กับสิบตำรวจเอก ณ. โดยอ้างว่าไม่ได้รับความยินยอมจาก ส. ซึ่งเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของสิบตำรวจเอก ณ. ธนาคารจึงระงับการจ่ายเงินกู้งวดต่อมา

2. ต่อมา ส. ซึ่งเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของสิบตำรวจเอก ณ. ฟ้อง ล. เป็นจำเลยขอให้ชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 250,000 บาท …….

3. จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท ……………. ซึ่งจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ……..

4. จำเลยยื่นฎีกา คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา โดยมีประเด็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฟ้องหย่าสิบตำรวจเอก ณ. ซึ่งประเด็นนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516(1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทน จากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น” และ ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง บัญญัติว่า “สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภรรยายไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภรรยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้” จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการที่ภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีเรียกค่าทดแทนโดยมีเงื่อนไขต้องฟ้องหย่า และศาลพิพากษาให้หย่าตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง กับกรณีที่เรียกค่าทดแทนโดยไม่มีเงื่อนไขต้องฟ้องหย่า ตามมาตรา 1523 วรรคสอง สำหรับคดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยโดยไม่ต้องฟ้องหย่าสิบตำรวจเอก ณ. แต่ประการใด

หมายเหตุ
1. คดีนี้ ประธานศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยที่ ย.ช. 4/2554 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ว่า คดีนี้ อยู่ในอำนาจพิจารณาและพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวส่งผลให้คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว

2. ผลของการเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัวเช่นนี้ คดีจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ว่าทุนทรัพย์จะเป็นเท่าใด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และมาตรา 248 วรรคสอง นอกจากนี้ยังส่งผลถึง ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง หากจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การกฎหมายมาตราดังกล่าวกำหนดให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว

3. การยื่นฟ้องคดีเรียกค่าทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 มี 2 กรณี

3.1 กรณีแรก เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคแรก เป็นการเรียกค่าทดแทนจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งหรือจากชู้ที่สืบเนื่องมาจากเหตุฟ้องหย่า ตามมาตรา 1516(1) คือ กรณีสามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือภริยามีชู้ ค่าทดแทนตามวรรคแรกนี้เรียกได้จากทั้งคู่สมรสอีกฝ่ายและจากหญิงอื่นหรือชู้โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีคำพิพากษาให้หย่ากันก่อน หมายความว่า ต้องฟ้องหย่าด้วยนั่นเอง ดังนั้น หากได้ความว่าสามีภริยาจดทะเบียนหย่ากันแล้ว จะมาฟ้องหย่าเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคแรกอีกไม่ได้ ให้พิจารณาศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้เพิ่มเติม

คำพิพากษาฎีกาที่ 3120/2530
ป.วิ.พ. มาตรา 1516 (1), 1523
ค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคแรก จะมีได้ต่อเมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุที่สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา หรือภริยามีชู้ ตามมาตรา 1516(1)เท่านั้น ฉะนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่ากันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาได้.

3.2 กรณีที่สอง เป็นการดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง เป็นการฟ้องเรียกจากบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่คู่สมรสกล่าวคือ เป็นกรณีสามีฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ที่ล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาว หรือภริยาเรียกจากหญิงอื่น ……. โดยไม่จำต้องฟ้องหย่าก่อน ให้พิจารณาศึกษาจากฎีกาต่อไปนี้เพิ่มเติม

คำพิพากษาฎีกาที่ 4818/2551
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6
ป.พ.พ. มาตรา 1523
ป.วิ.พ. มาตรา 90, 224 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยโดยอ้างเหตุว่า จำเลยคบหากับ พ. ในลักษณะชู้สาวและแสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นภริยาของ พ. จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 เป็นการเฉพาะ จึงเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่กับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาโดยตรง หาใช่คดีละเมิดธรรมดาไม่ ถือเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6
แม้รายการใช้โทรศัพท์จะเป็นเพียงสำเนาเอกสารและโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้จำเลย แต่เมื่อปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของบริษัท อ. บุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 (2)
คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการฟ้องหย่าก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516 (1) เสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้อง

คำพิพากษาฎีกาที่ 320/2530
ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง, 1523 วรรคสาม, 1525
ป.วิ.พ. มาตรา 84
การล่วงเกินในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสองมีความหมายรวมถึงการทำชู้ ด้วย สิทธิเรียกค่าทดแทนตามความในวรรคสองของมาตรา 1523 นี้ มิได้มีเงื่อนไขว่าสามีจะต้องฟ้องหย่าภริยาเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากผู้ล่วงเกินได้ ค่าทดแทนในกรณีนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดให้ชายชู้ ต้องรับผิด ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามฐานานุรูปแห่งผู้ต้องได้รับความเสียหาย ซึ่งรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อ เสียง และเกียรติคุณของโจทก์ด้วย โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นชู้ กับภริยาโจทก์จำเลยให้การว่าโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยเป็นชู้ กับผู้ตาย ซึ่งถ้าเป็นจริงโจทก์จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสามประเด็นข้อนี้ภาระการพิสูจน์ตก แก่จำเลย.

คำพิพากษาฎีกาที่ 2940/2538
ป.พ.พ. มาตรา 448, 1523
ป.วิ.พ. มาตรา 55, 249
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตลอดมา จนถึงวันฟ้อง ลักษณะการกระทำของจำเลยได้กระทำต่อเนื่องกัน มายังมิได้หยุด การกระทำละเมิดของจำเลยได้เกิดขึ้นและ มีอยู่ในขณะฟ้อง คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยที่ว่า การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 จะต้องฟ้องหย่าเสียก่อนจึงจะเรียกค่าทดแทนได้นั้นเป็นฎีกาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ การเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ไม่มีเงื่อนไขว่าภริยาต้องฟ้องหย่าสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องเรียก ค่าทดแทนจากหญิงนั้นได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาฎีกาที่ 6383/2537
ป.พ.พ. มาตรา 420, 447, 1523 วรรคสอง
ภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1521 วรรคสอง ค่าทดแทนนี้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งมีความหมายรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของภริยา ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้รับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว จะฟ้องเรียกค่าทดแทนโดยอ้างว่าเป็นการละเมิดสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 447 ให้ชำระค่าเสียหายเป็นรายเดือน นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลิกแสดงตนและเลิกมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีอีกไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2498/2552
ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1), 1523, 1524, 1525
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1525 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การกำหนดค่าทดแทนกรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามีเป็นชู้ หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ ตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ และวรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จะต้องชำระค่าทดแทนเป็นคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นด้วย เมื่อโจทก์เรียกค่าทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นคู่สมรสเป็นเงิน 5,000,000 บาท โดยมิได้แสดงพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่าเพราะเหตุใดโจทก์จึงควรได้ค่าทดแทนจำนวนดังกล่าว ศาลจึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงฐานานุรูปของโจทก์ จำเลยและพฤติการณ์แห่งคดี อีกทั้งทรัพย์สินที่โจทก์ได้รับจากการแบ่งสินสมรสตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองตามบทบัญญัติมาตรา 1525 ดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนเพราะเหตุจำเลยอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาเป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะกำหนดค่าทดแทนให้มากไปกว่านี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 6516/2552
ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1), 1523 วรรคหนึ่ง
แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยพาจำเลยที่ 2 ออกงานสังคม หรือแนะนำให้บุคคลอื่นรู้จักในฐานะภริยาแต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างในแหล่งชุมชนด้วยกันในเวลากลางคืน ขับรถรับส่งเมื่อไปทำกิจธุระหรือซื้ออาหารด้วยกัน ย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวและเอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (1) แล้ว และโจทก์ยังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้อีกด้วย

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments