Home คดีแพ่ง หญิงยอมร่วมประเวณีกับชาย โดยถูกหลอกว่าจะเลี้ยงดูเป็นภริยา เป็นการกระทำละเมิดต่อหญิงหรือไม่

หญิงยอมร่วมประเวณีกับชาย โดยถูกหลอกว่าจะเลี้ยงดูเป็นภริยา เป็นการกระทำละเมิดต่อหญิงหรือไม่

24802

หลักเกณฑ์ของละเมิดนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัยเสรีภาพหรือทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นั้นกระทำละเมิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

ซึ่งตามหลักกฎหมายนั้น กระทำด้วยความยินยอมย่อมไม่เป็นละเมิด ในกรณีที่ผู้เสียหายยินยิมให้กระทำ หรือเสี่ยงเข้ารับความเสียหายนั้นเองถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจึงไม่เป็นละเมิด แต่ต้องเป็นความยินยอมก่อนหรือขณะกระทำ

คำถามคือหากผู้หญิงยอมร่วมประเวณีกับชาย โดยถูกหลอกว่าจะเลี้ยงดูเป็นภริยา เป็นการกระทำละเมิดต่อหญิงหรือไม่ ?

ศาลเคยตัดสินไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 576/2488

การที่หญิงยินยอมร่วมประเวณีกับชายโดยถูกหลอกลวงว่าจะรับเลี้ยงดูและจะทะเบียนนั้น ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานละเมิด หญิงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1971/2517

การเรียกค่าทดแทนเนื่องจากผิดสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการสมรสนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1438บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้เรียกได้เฉพาะกรณีที่มีการหมั้นเท่านั้นการที่โจทก์จำเลยตกลงกันว่าจะสมรสหรือจดทะเบียนสมรสโดยไม่มีการหมั้น เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโจทก์จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยหาได้ไม่
โจทก์จำเลยสมรสกันตามประเพณี และตกลงกันว่าหากจำเลยสำเร็จการศึกษาแล้วจำเลยจะไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ แต่เมื่อจำเลยสำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์นั้น การที่โจทก์ต้องสูญเสียความเป็นสาวและอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยโดยไม่จดทะเบียนสมรสกัน เกิดจากความสมัครใจของโจทก์มิใช่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลย การที่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ ก็มิใช่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ หรือเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 421 จำเลยไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์

หากเตรียมการสมรสโดยไม่ได้มีการหมั้น แล้วต่อมาไม่มีการสมรสตามที่ตกลงเป็นละเมิดหรือไม่ ?

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2532

การเรียกค่าทดแทนเนื่องจากผิดสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการสมรสนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439 บัญญัติไว้เป็นพิเศษให้เรียกได้เฉพาะกรณีที่มีการหมั้นเท่านั้น เมื่อโจทก์จำเลยตกลงจะสมรสกันโดยไม่มีการหมั้น จึงนอกขอบเขตที่กฎหมายรับรอง แม้จำเลยไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์ก็เรียกค่าทดแทนไม่ได้ การที่โจทก์ต้องใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส ต้องเสียพรหมจารีให้แก่จำเลย และอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับจำเลย โดยจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ เกิดจากความสมัครใจของโจทก์ไม่เป็นเหตุที่จะถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ คำฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์ยินยอมสมรสกับจำเลย จำเลยให้โจทก์เป็นฝ่ายเตรียมจัดพิธีมงคลสมรสแต่ฝ่ายเดียว และจำเลยได้มอบเงินช่วยเหลือในการเตรียมจัดงานสมรสเป็นเงิน 11,000 บาท ที่โจทก์ฎีกาว่า เงินจำนวน 11,000 บาท ที่จำเลยมอบให้ฝ่ายหญิงเป็นของหมั้นนั้น คำฟ้องเดิมกับฎีกาโจทก์ขัดแย้งกัน ฎีกาโจทก์ข้อนี้จึงเป็นเรื่องนอกประเด็น และไม่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

สรุปไม่เป็นละเมิด หญิงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทน

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments