Home คดีอาญา ลูกจ้างร้านกาแฟลักทรัพย์โดยแก้ไขรายการในคอมพิวเตอร์เป็นความผิดฐานใด

ลูกจ้างร้านกาแฟลักทรัพย์โดยแก้ไขรายการในคอมพิวเตอร์เป็นความผิดฐานใด

26646

ในหลายๆคดี และในหลายๆธุรกิจเมื่อนายจ้างละเลยไม่ใส่ใจ บวกกับภาระทางการเงินและปัญหาเศรษฐกิจของลูกจ้างแล้ว ย่อมเป็นช่องทางที่นายจ้างหรือผู้เสียหายจะถูกทำให้ได้รับความเสียหายหรือถูกกระทำผิดได้ ปัญหานี้เกิดขึ้นเมื่อมีโทรศัพท์ถามทีมงานทนายกฤษดา ว่าลูกจ้างลักทรัพย์โดยแก้ไขรายการทางบัญชีในคอมพิวเตอร์ ว่าควรจะดำเนินคดีข้อหาใด

คำตอบ เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้


คำพิพากษาฎีกาที่ 10369/2559  จำเลยขายสินค้าของผู้เสียหายได้รับเงินค่าสินค้ามา แทนที่จำเลยจะรวบรวมนำส่งเงินไปฝากธนาคาร แต่จำเลยนำเงินนั้นไปเป็นของจำเลยแล้วใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้ยอดสินค้าในระบบคอมพิวเตอร์กับจำนวนเงินที่ผู้เสียหายควรได้รับมาจากการจำหน่าย อันเป็นวิธีการที่ผู้เสียหายจะไม่ทราบว่าจำเลยไม่ได้นำส่งเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย ต่อเมื่อตรวจสอบสต๊อกสินค้าแล้วจึงจะทราบว่าจำนวนสินค้าไม่ตรงกับจำนวนเงินที่มีการจำหน่าย ดังนี้ เงินที่จำเลยรับมาจากลูกค้าซึ่งได้จากการจำหน่ายสินค้าเป็นการรับเงินไว้ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างของผู้เสียหาย เพียงแต่ให้จำเลยยึดถือไว้ชั่วคราว อำนาจในการครอบครองควบคุมดูแลทรัพย์สินยังเป็นของนายจ้าง ผู้เสียหายไม่ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยเอาเงินของผู้เสียหายไป จึงเป็นการเอาเงินไปโดยเจตนาทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหายที่เป็นนายจ้าง ตาม ป.อ.มาตรา 335 (11) วรรคแรก มิใช่เป็นความผิดฐานยักยอก

หมายเหตุ

1. ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลชื่อบริษัท แบล็ค แคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด จำหน่ายอาหารประเภทเบเกอรี่และเครื่องดื่ม
2.จำเลยเป็นพนักงานดูแลร้าน มีหน้าที่พิมพ์รายการขายสินค้าในแต่ละวันเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ นำเงินยอดขายแต่ละวันฝากเข้าธนาคาร สั่งสต๊อกสินค้าในแต่ละวันหรือรายสัปดาห์ ตรวจนับยอดสินค้าแล้วส่งรายงานยอดสต๊อกคงเหลือแต่ละสัปดาห์หรือแต่ละเดือนไปยังสำนักงานใหญ่
3.วิธีการเอาเงินไป คือ ได้บันทึกรายการขายแต่ไม่ได้ออกใบเสร็จให้แก่ลูกค้า เมื่อลูกค้าออกจากร้านจึงยกเลิกรายการแล้วจำเลยเก็บเงินที่ได้รับจากลูกค้าไว้เอง และยังเปลี่ยนแปลงรายการสินค้ามีมูลค่าเป็นสินค้าที่ไม่มีมูลค่า คือ ลูกค้าซื้อกาแฟเย็น จำเลยจะเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าเป็นแก้วเทคอะเวย์ ซึ่งแก้วเปล่ามีมูลค่าเป็นศูนย์
4. คดีนี้ไม่มีประจักษ์พยานว่าจำเลยกระทำผิดอย่างไร แต่จำเลยได้ทำบันทึกไว้ว่าจำเลยทุจริตอย่างไร และจำเลยยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายโดยการผ่อนชำระ
5. คดีนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้าง ส่วนศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอก ศาลฎีกาเห็นด้วยกับศาลชั้นต้น)

สรุปเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง เพราะเงินที่ได้รับมาจากลูกค้าในการจำหน่ายระหว่างปฏิบัติหน้าที่นั้นอำนาจในการควบคุมเงินดังกล่าวเป็นของผู้เสียหาย (นายจ้าง)เมื่อจำเลยเอาไปจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ใช่ยักยอก ซึ่งโทษหนักกว่ายักยอกทรัพย์เยอะมาก

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th

Facebook Comments