เป็นธรรมดาหากเกิดเหตุพิพาทคู่กรณีย่อมจะพึงพาหรือไปตกลงกันในบันทึกประจำวัน เมื่อมีการตกลงบันทึกประจำวันกันแล้ว ในประการต่อมาหากประเมินค่าซ่อมแล้วไม่พอสามารถมาฟ้องร้องเรียกให้ชำระกันอีกได้หรือไม่ ทีมงานทนายกฤษดา ขอพาไปหาคำตอบในคำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2540
การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดในความประมาทเลินเล่อและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 6,000บาท จากค่าเสียหายประมาณ 10,550 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระตามกำหนดให้โจทก์ฟ้องร้องทางแพ่งได้นั้น เป็นการตกลงชำระค่าเสียหายกันเป็นจำนวนที่แน่นอนแล้ว ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทอันเกี่ยวกับค่าเสียหายซึ่งเกิดจากมูลละเมิดขับรถชนกันให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องในหนี้สินอันเกิดจากมูลละเมิดระงับสิ้นไปและทำให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดระงับไปแล้วความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างย่อมระงับไปด้วย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยทั้งสาม ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ฎีกามาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247
สรุป เมื่อตกลงระงับข้อพิพาทอันเกี่ยวกับค่าเสียหายซึ่งเกิดจากมูลละเมิดขับรถชนกันให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 มีผลทำให้การเรียกร้องในหนี้สินอันเกิดจากมูลละเมิดระงับสิ้นไป
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
0891427773 ไลน์ไอดี Lawyers.in.th